สรุป ‘แลนด์บริดจ์’ อภิมหาเมกะโปรเจ็กต์ 1 ล้านล้าน เร่งสร้างจุดขายใหม่ไทย
โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือ “แลนด์บริดจ์” เป็นเมกะโปรเจกต์สำคัญที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังเร่งผลักดัน เพื่อสร้างจุดขายใหม่ให้กับประเทศไทย โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 ที่ผ่านมาได้ให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้เดินหน้าโครงการ
และในการเดินทางไปร่วมประชุม “Belt and Road” ที่ประเทศจีนครั้งล่าสุดนายกรัฐมนตรีของไทยได้นำเอาโครงการนี้ไปนำเสนอในการประชุมว่า ประเทศไทยผลักดัน และได้เชิญชวนเอกชนชาวจีนเข้ามาลงทุนโครงการนี้ในประเทศไทยด้วย โดยโครงการนี้มีขนาดการลงทุนถึง 1 ล้านล้านบาท และจะเริ่มมีการเปิดประมูลโครงการในเดือนเม.ย. 2568 และมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือน ต.ค.ปี 2573
สำหรับประโยชน์ทางเศรษฐกิจของโครงการนี้ที่ประเทศไทยจะได้รับ ได้แก่
1.ลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว
2. สนับสนุนระบบโลจิสติกส์การขนส่งทางเรือของประเทศไทยเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค
3.เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดระนอง จังหวัดชุมพร และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้
4.เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โอกาสการจ้างงาน และช่วยลดปัญหาทางสังคมในพื้นที่จังหวัดระนองจังหวัดชุมพร และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้
วิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแลนด์บริดจ์
ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสำหรับโครงการตามแนวทางการวิเคราะห์โครงการลงทุนขนาดใหญ่ซึ่งพิจารณาทั้งผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม ซึ่งสรุปได้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์
มีความเหมาะสมในการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้:
1. มูลค่าปัจจุบัน (NPV) 257,453 ล้านบาท
2. อัตราผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) เท่ากับ 1.35
3. อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 17.43%
4. ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทางตรง 9.52%
5. อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 8.62%
6. ระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24
7. การพัฒนาโครงการจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ จำนวน 280,000 ตำแหน่ง โดยแบ่งเป็นจังหวัดระนองจำนวน 130,000 ตำแหน่ง จังหวัดชุมพร 150,000 ตำแหน่ง
รวมทั้งเป็นส่วนช่วยทำให้จีดีพีของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทำไว้ประมาณ 4% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปี
รูปแบบการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์
รูปแบบการพัฒนาโครงการ เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งโครงการในลักษณะท่าเรือเดียวเชื่อม 2 ฝั่ง (One Port Two Sides) โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่า
สำหรับองค์ประกอบที่สำคัญของโครงการ ที่จะต้องมีการพัฒนาไปพร้อมกันประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งทะเล และโครงข่ายเชื่อมโยงระบบราง มอเตอร์เวย์ และทางท่อ ดังนี้
- ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด จังหวัดระนอง ออกแบบให้สามารถรองรับสินค้าได้ 20 ล้านTEUs ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร
- ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่แหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร
- เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง มีระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร ประกอบด้วย
- ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขนาด 6 ช่องจราจร โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กิโลเมตร
- ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (Standard Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กิโลเมตร ออกแบบเพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ (Double Stack)
- ทางรถไฟขนาดราง 1.0 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ21 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายทางรางหลักของประเทศ
- พื้นที่สำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการขนส่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติทางท่อในพื้นที่ของโครงการ การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ
นอกจากนี้โครงการแลนด์บริดจ์จะก่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดเบา เช่น การประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์อนาคต อาหาร กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้า เครื่องมือและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้า
และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้โดยการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น ก่อสร้างอาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ และโรงแรม เป็นต้น
รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น ร้านอาหาร โรงพยาบาล สถานบันเทิง และร้านค้าต่าง ๆระหว่างเส้นทางโครงการ
อ้างอิง:
https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1094598
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.