อดีตปลัดคลัง แนะแจกเงินดิจิทัลเสี่ยง ควรกระตุ้นยาว เพื่อ ศก.เติบโตยั่งยืน

นายสมชัย สัจจพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง แสดงความคิดเห็นนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ดิจิทัล วอลเล็ต ว่า เท่าที่ติดตามข่าวก็ยังไม่ทราบรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานและงบประมาณที่ใช้ ซึ่งผมคงไม่ตอบว่าควรทำหรือไม่ควรทำหรือว่าดีหรือไม่ดี

อย่างไรก็ตาม อยากเสนอข้อคิดให้กับคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่กำลังดำเนินการศึกษาและเสนอแนวทางในการดำเนินนโยบายนี้ เพื่อคิดให้ครอบคลุมทุกองคาพยพแล้วก็ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการใช้งบประมาณและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังและ เสี่ยงต่อการทำผิดวินัยการเงินการคลัง

ก่อนอื่นต้องตกผลึกให้ได้ก่อนว่า นโยบายนี้มีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายหลักคืออะไรเช่นตามที่ผมฟังมา รัฐบาลต้องการใช้นโยบายนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

ดังนั้น ก็ต้องตั้งคำถามว่า ถ้าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วและให้มีการหมุนของเงินเร็ว กลุ่มประชาชนกลุ่มใดที่สามารถตอบสนองต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไว คำตอบก็ คือ กลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อย เพราะกลุ่มประชาชนกลุ่มนี้เมื่อได้เงินเป็นเงินสดหรือเงินดิจิตอลไปก็จะมีแนวโน้มในการใช้เงินทั้งหมดเลย และใช้ด้วยความรวดเร็วในการบริโภคอุปโภคบริโภค ส่วนน้อยที่จะนำไปใช้ในการต่อยอดรายได้เพื่อการลงทุนและประกอบอาชีพ

 

"การแจกเงินดิจิตอลให้กับทุกคนที่มีมีอายุมากกว่า 16 ปี จึงไม่น่าจะเป็นการตอบโจทย์ในการที่รัฐบาลต้องการใช้นโยบายนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น หากรัฐบาลต้องการดำเนินนโยบายนี้ เพื่อเป้าหมายนี้จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินงบประมาณมากถึง 560,000 ล้านบาท รัฐบาลเพียงแต่แจกเงินดิจิตอลให้กับกลุ่มฐานรากหรือกลุ่มที่มีรายได้น้อยน่าจะเพียงพอแล้ว ทำให้ใช้เงินงบประมาณหรือการกู้เงินมาน้อยกว่าจำนวน 560,000 ล้านบาท”

ประเด็นต่อมาก็คือว่าเมื่อจะกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแบบนี้ผ่านการใช้จ่ายของกลุ่มประชาชนฐานรากแล้ว ระยะเวลาหรือ timing ขณะนี้เหมาะสมหรือไม่ในการทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแบบนี้ ในขณะที่เศรษฐกิจไทยปัจจุบันไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤตเหมือนเศรษฐกิจช่วงโควิดระบาด

 

หากเศรษฐกิจปัจจุบันในช่วงเวลานี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องมากระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ดังนั้น ทางเลือกที่ดีกว่าของรัฐบาลในการใช้เงินงบประมาณส่วนนี้ในการดำเนินนโยบายดิจิตัล วอลเล็ต ก็คือการนำเงินงบประมาณส่วนนี้ไปทำโครงการอื่นที่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลางและระยะยาว ซึ่งส่งผลต่อการต่อยอดรายได้ ต่อยอดการลงทุน เพิ่มผลิตภาพและศักยภาพการผลิตของประเทศจะดีกว่าหรือไม่

คำถามต่อไปก็คือ ถ้ารัฐบาลยืนยันการแจกเงินดิจิตัล ให้ทุกคนอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปตามแผนที่ได้หาเสียงไว้ คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการที่กำลังศึกษาเรื่องนี้ควรจะเสนอปรับปรุงมาตรการนี้อย่างไร เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และต้องการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลนี้

ผมขอเสนอให้คณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการพิจารณาทบทวนและขยายเป้าหมายของการทำนโยบายนี้จากการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอย่างเดียวมาเสริมด้วยการยกระดับ GDP ของประเทศ ยกระดับรายได้ของประชาชนในระยะกลางและระยะยาวไปพร้อมกันโดยการต่อยอดรายได้เน้นเรื่องการลงทุนของประชาชนกลุ่มเล็กหรือกลุ่มขนาดกลางเพื่อเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ การประกอบอาชีพและการลงทุนของวิสาหกิจขนาดกลางที่ดำเนินการโดยประชาชนกลุ่มเล็ก ดังนั้นเมื่อประชาชนได้เงินไปแล้วก็จะมีกลุ่มของประชาชนบางกลุ่มที่ใช้เงินเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น กลุ่มประชาชนบางกลุ่มก็จะนำเงินไปรวมตัวกันเพื่อไปต่อยอดรายได้ลงทุนเสริมรายได้เสริมอาชีพ

ดังนั้น การสร้างเงื่อนไขของการใช้เงินดิจิตอล จะต้องอนุญาตให้มีการนำเงินมารวมกันเพื่อลงทุนหรือว่าเพื่อไปต่อยอดอาชีพต่อยอดรายได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลางระยะยาวได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น การกำหนดเงื่อนไขของการใช้เงินในระยะ 4 ก.ม. และเงื่อนไขอื่นๆ ก็ต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนและเพิ่มเป้าหมายตามที่ผมได้เสนอข้างต้น

“เมื่อมีการเพิ่มเป้าหมายเงื่อนไขวัตถุประสงค์เพื่อให้นำเงินดิจิตอลไปร่วมกันลงทุนต่อยอดรายได้เพิ่มขึ้นได้นั้น รัฐบาลก็ไม่ควรให้คนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มประชาชนกลุ่มนี้คิดเองทำเองโดยปราศจากการสนับสนุนจากภาครัฐ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำและคิดต่อให้เป็นระบบก็คือ ต้องมีการเตรียมองคาพยพของหน่วยงานราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

ทั้งนี้ ได้แก่

  • กระทรวงการคลัง
  • กระทรวงศึกษาธิการ
  • กระทรวงแรงงาน
  • กระทรวงพาณิชย์
  • กระทรวงอุตสาหกรรม

รวมทั้งสถาบันการเงิน และภาคธุรกิจเอกชน

เพื่อมาช่วยสนับสนุนเตรียมความพร้อม เตรียมข้อเสนอแนะ เตรียมอบรมฝึกอาชีพ ช่วยเสนอแนะแนวทางการลงทุนแนวทางการปรับปรุงการดำเนินธุรกิจ ให้กับกลุ่มประชาชนที่มีความต้องการใช้เงินดิจิตอลในการสร้างอาชีพต่อยอดรายได้เพิ่มผลิตภาพการผลิต และการลงทุนด้วย

โดยสรุปแล้วผมมีความเห็นว่า ปัจจุบันนี้รัฐบาลยังไม่ตกผลึกในการคิดนโยบายนี้ และยังไม่คิดครบทั้งระบบ ทั้งขาดความชัดเจนของแหล่งที่มาของงบประมาณที่นำมาใช้ในโครงการนี้อย่างรอบคอบและยังหวังผลเลิศเกี่ยวกับเรื่องการได้รายรับจากรายได้ภาษีที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายนี้

ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากเนื่องจากเรายังมีปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบภาษีและยังขาดประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี รวมทั้งขาดความแม่นยำจากการประเมินผลการดำเนินมาตรการนี้จากส่วนเพิ่มของการเก็บภาษีและการเติบโตของรายได้จากการดำเนินนโยบายดิจิตัล วอลเล็ตนี้ ทำให้การคาดการณ์ผลการประเมินของโครงการนี้ทำได้ยากและถูกต้อง เพิ่มความเสี่ยงทางการคลัง เสี่ยงต่อการผิดวินัยการเงินการคลัง

“จริงๆ แล้วเงินจำนวนนี้ประมาณ 560,000 ล้านบาท ถ้าวางระบบดีดีสามารถนำไปแก้ไขปัญหาความยากจนของคนไทยทั้งระบบได้เลยเช่นเดียวกับการที่ประเทศจีนได้ทุ่มงบประมาณและบุคลากร เพื่อไปแก้ไขปัญหาความยากจน หรือนำเงินก้อนนี้ไปดำเนินโครงการลงทุนอื่นที่เสริมความแข็งแกร่งและ ประสิทธิภาพการผลิตของประเทศเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจยั่งยืน”

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.