หุ้นไทยต่ำกว่า1,400จุดจากสงครามอิสราเอล-ฮามาสเงินบาทอ่อนสวนดอลลาร์แข็ง
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่า โดยเงินบาททยอยอ่อนค่าลงตามสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส นอกจากนี้สัญญาณขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 5.00% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 16 ปี) ก็เป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมที่กดดันค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีราคาทองคำในตลาดโลกที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นในระหว่างสัปดาห์ ช่วยชะลอกรอบการอ่อนค่าของเงินบาทไว้บางส่วน
ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากท่าทีของประธานเฟดที่ยังคงกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ แม้จะยอมรับว่า การขยับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินในช่วงที่ผ่านมา อาจลดความจำเป็นของการคุมเข้มทางการเงินต่อเนื่องของเฟดก็ตาม
ในวันศุกร์ที่ 20 ต.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 36.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (12 ต.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 16-20 ต.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,053 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 9,847 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 9,772 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 75 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (23-27 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.10-36.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย. ของไทย สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางสกุลเงินเอเชีย รวมถึงสถานการณ์ในอิสราเอล
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี PCE/Core Price Indices เดือนก.ย. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 (advanced) ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคเดือนต.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม ECB และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษและสหรัฐฯ
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงหลุดแนว 1,400 จุด โดยภาพรวมหุ้นไทยปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อนสอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศท่ามกลางความกังวลว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลจะยืดเยื้อ แม้ผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยจะยังจำกัดก็ตาม
นอกจากนี้ บรรยายกาศการลงทุนยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ตลอดจนโอกาสของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และท่าทีของประธานเฟดที่มีความกังวลต่อทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งยังอยู่ในระดับสูง หุ้นไทยปรับตัวลงถ้วนหน้าในช่วงปลายสัปดาห์ นำโดย ไฟแนนซ์ เทคโนโลยี วัสดุก่อสร้าง และกลุ่มแบงก์
ในวันศุกร์ที่ 20 ต.ค. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,399.35 จุด ลดลง 3.54% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,427.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.25% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 5.65% มาปิดที่ระดับ 407.88 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (23-27 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,390 และ 1,370 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,415 และ 1,440 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนก.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของบจ.ไทย
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนต.ค. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนี PCE/Core PCE Indice เดือนก.ย. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนต.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนกำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. ของจีน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.