ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง JPC จ่อขายไอพีโอไม่เกิน 156 ล้านหุ้น เข้าเทรด SET

นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท ยัสปาล จำกัด (มหาชน) หรือ JPC เปิดเผยว่า หลังจาก JPC ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบไฟลิ่ง) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 156 ล้านหุ้น คิดสัดส่วนไม่เกิน 26% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ 

ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต.ได้นับหนึ่งแบบไฟลิ่งแล้ว โดย JPC จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และมีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ไปเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ลงทุนขยาย และ/หรือ ปรับปรุงสาขาและจุดจำหน่ายสินค้า รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจและชำระคืนเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ของกลุ่มบริษัทต่อไป

นายจรัญ สิงห์สัจจเทศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยัสปาล จำกัด (มหาชน) หรือ JPC กล่าวว่า ยัสปาล กรุ๊ป มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจแฟชั่นมามากว่า 75 ปี ด้วยทีมผู้บริหารและบุคลากรที่มีความเข้าใจทั้งในอุตสาหกรรมแฟชั่นและอุตสาหกรรมที่นอนและเครื่องนอนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเข้าใจเทรนด์การเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค เพื่อขับเคลื่อนการเติบโต ด้วยวิสัยทัศน์ “หนึ่งในผู้นำธุรกิจแฟชั่นไลฟ์สไตล์ เพื่อนำความสุขที่ยิ่งใหญ่มาสู่ผู้คนนับล้านทั่วโลก”

โดยผ่านการดำเนินงานใน 2 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก สินค้าแฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์อื่นๆ (กลุ่มธุรกิจสินค้าแฟชั่น) และกลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายที่นอนและเครื่องนอน ของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ (ธุรกิจที่นอนและเครื่องนอน) ที่ดำเนินงานภายใต้ บริษัท ยัสปาล แอนด์ ซันส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โดยมีแบรนด์สินค้าที่กลุ่มบริษัทเป็นเจ้าของ (In-house Brand) และแบรนด์ที่บริษัทได้รับสิทธิ์ให้ผลิตและเป็นตัวแทนจำหน่าย ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ หรือได้รับสัญญาแฟรนไชส์ (Import Brand) รวมกันกว่า 27 แบรนด์ชั้นนำ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มทุกไลฟ์สไตล์ด้วยคุณภาพ และมาตรฐานระดับสากล สร้างการยอมรับจากลูกค้าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ทั้งนี้ JPC เป็นบริษัทสัญชาติไทยที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับที่ 1 ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและรองเท้าเฉพาะอย่างของประเทศไทย (อ้างอิงจาก Euromonitor International) โดยมีส่วนแบ่งการตลาดปี 2563-2565 อยู่ที่ 8.4% 10.0% และ 10.5% ตามลำดับ แสดงถึงศักยภาพการดำเนินงานของบริษัทที่มีแบรนด์พอร์ตโฟลิโอหลากหลาย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตอกย้ำถึงประสบการณ์และความเข้าใจเทรนด์ของอุตสาหกรรมเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างทั้งด้านความชอบ ไลฟ์สไตล์และรายได้ 

โดยมีแบรนด์หลัก ได้แก่ JASPAL (ยัสปาล), CC DOUBLE O (ซีซี ดับเบิ้ลโอ), CPS CHAPS (ซีพีเอส แชปส์), LYN (ลิน), lyn around (ลิน อะราวนด์) เป็นต้น รวมถึงมี Import Brand ที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ทำให้บริษัทนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ได้ดียิ่งขึ้น เช่น FRED PERRY (เฟร็ด เพอร์รี่), DIESEL (ดีเซล), Superdry (ซุปเปอร์ดราย) เป็นต้น รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่นอนและเครื่องนอน ภายใต้ In-house Brand และ Import Brand รวม 6 แบรนด์ ได้แก่ SANTAS, SANTAS HOME, STEVENS, Sealy, TEMPUR และ ETHAN ALLEN

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทยังนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพื่อเข้าถึงลูกค้าได้อย่างครอบคลุม ผ่านช่องทางจำหน่ายสาขาหน้าร้านและจุดจำหน่ายภายในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าและศูนย์ค้าปลีกชั้นนำทั่วประเทศ รวม 977 สาขา ทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันกลุ่มธุรกิจสินค้าแฟชั่น ยังมีการจำหน่ายเพิ่มเติมผ่านทางออนไลน์ทางเว็บไซต์กลุ่มบริษัทและแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ต่างๆ (Marketplace) และกลุ่มธุรกิจที่นอนและเครื่องนอนยังมีการจำหน่ายเพิ่มเติมผ่านการขายงานโครงการและส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ

นายจรัญ กล่าวว่า กลุ่มบริษัทมุ่งนำประสบการณ์และความเข้าใจในอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถการแข่งขันในทุกด้าน เพื่อผลักดัน JPC ไปสู่หนึ่งในผู้นำธุรกิจสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ของภูมิภาคอาเซียน จากแผนขับเคลื่อนธุรกิจโดยใช้ Big Data จากฐานข้อมูลการขายสินค้าและศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อวางแผนพัฒนาแบรนด์สินค้าใหม่ๆ การขยายสาขาและจุดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ 

นอกจากนี้ ยังได้นำระบบเทคโนโลยีมาใช้เพื่อบริหารสินค้าคงคลัง เพิ่มประสิทธิความแม่นยำในการบริหารและจัดสรรสินค้าไปยังจุดจำหน่ายที่เหมาะสม ลดต้นทุนการจัดเก็บสินค้าที่ไม่จำเป็น ส่งผลให้อัตราการหมุนเวียนสินค้าคงเหลือในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2563-2565) ดีขึ้นต่อเนื่อง หรืออยู่ที่ 1.6, 1.7 และ 2.0 เท่า ตามลำดับ ส่งผลให้บริษัmมีความสามารถในการทำกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 50.76%  ณ วันที่ 30 มิ.ย.2566 ใกล้เคียงกับบริษัทระดับโลกในอุตสาหกรรมผู้ค้าปลีกเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นอีกด้วย

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2563-2565) บริษัทมีรายได้จากการขาย 8,303.2 ล้านบาท 8,276.4 ล้านบาท และ 11,491.34 ล้านบาท ตามลำดับ โดยธุรกิจสินค้าแฟชั่นคิดเป็นสัดส่วน 82.5%, 82.0% และ 83.3% ของรายได้จากการขาย ซึ่งมาจาก In-house Brand 5 แบรนด์หลัก ได้แก่ JASPAL (ยัสปาล), CC DOUBLE O (ซีซี ดับเบิ้ลโอ), CPS CHAPS (ซีพีเอส แชปส์), LYN (ลิน), lyn around (ลิน อะราวนด์) ขณะที่ธุรกิจที่นอนและเครื่องนอนทำสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 17.5%, 18.0% และ 16.7% ตามลำดับ โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจาก Import Brand

ส่วนผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2566 (ม.ค.- มิ.ย.2566) บริษัทมีรายได้จากการขายรวม 6,083.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.9% และกำไรขั้นต้น 3,088.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังการบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวและจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น โดยธุรกิจสินค้าแฟชั่น คิดเป็น 85.1% ของรายได้จากการขาย ขณะที่ธุรกิจที่นอนและเครื่องนอนทำสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 14.9%

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.