เงินบาทแข็งค่าขึ้นส่วนหุ้นไทยยังปิดบวกได้ฝ่าสงครามอิสราเอล-ฮามาสเดือด

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทพลิกแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ 36.09 บาทต่อดอลลาร์ฯ แม้ว่าเงินบาทมีอ่อนค่าลงช่วงสั้น ๆ ต้นสัปดาห์ เช่นเดียวกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังมีสัญญาณตึงเครียดในสงครามอิสราเอล-ฮามาส อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า โดยได้รับอานิสงส์จากการพุ่งขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และแรงซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ     
ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ทยอยอ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังเจ้าหน้าที่เฟดบางท่านออกมาให้ความเห็นว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ในช่วงที่ผ่านมา อาจลดความจำเป็นของการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด นอกจากนี้บันทึกการประชุมเฟดเมื่อ 19-20 ก.ย. ยังสะท้อนว่า เจ้าหน้าที่เฟดมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องความจำเป็นที่เฟดจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกในระยะข้างหน้า

ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ต.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 37.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (6 ต.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 9-12 ต.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 2,854 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 16,287 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 17,307 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 1,020 ล้านบาท) 

สัปดาห์ถัดไป (16-20 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.70-36.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางสกุลเงินเอเชีย สถานการณ์ในอิสราเอล และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนต.ค. ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ย. รายงาน Beige Book และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย. ของยูโรโซน การประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน และตัวเลขเศรษฐกิจจีน อาทิ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 ตลอดจนยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนก.ย. ด้วยเช่นกัน  

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยย่อตัวลงช่วงปลายสัปดาห์ แต่สามารถปิดบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 6 สัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวลงช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากไร้ปัจจัยใหม่ ๆ เข้ามาหนุน รวมถึงตลาดมีความกังวลต่อเหตุการณ์ความไม่สงบในสงครามอิสราเอล-ฮามาส

อย่างไรก็ดีหุ้นไทยฟื้นตัวในเวลาต่อมาตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ หลังเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นว่า อาจไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก หุ้นไทยกลับมาย่อตัวลงอีกครั้ง ซึ่งสวนทางกับตลาดหุ้นในภูมิภาค เนื่องจากมีแรงขายก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวของตลาดในประเทศ      

ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ต.ค. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,450.75 จุด เพิ่มขึ้น 0.86% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 44,639.27 ล้านบาท ลดลง 7.40% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.81% มาปิดที่ระดับ 432.31 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (16-20 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,440 และ 1,420 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,460 และ 1,470 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของบจ.ไทย โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.ย. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 อัตราดอกเบี้ย LPR เดือนต.ค. และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ย.ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรม

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.