สิริพงศ์ จึงถาวรรณขับเคลื่อนแพลตฟอร์โลจิสติกส์ MELOG ลดภาระธุรกิจขนส่ง

แรงบันดาลใจแรกเริ่มที่ทำให้ สิริพงศ์ จึงถาวรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวนการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท มีล็อก จำกัด (MELOG) เกิดแนวคิดที่จะพัฒนาแพลตฟอร์โลจิสติกส์ MELOG (Independent Driver Platform : แพลตฟอร์มรถร่วมเถ้าแก่น้อย) หลังเขามีโอกาสได้ให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการขนส่งมากกว่า 200 ราย ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี ที่ผ่านมา

จนพบว่าผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (Logistics Service Provider: LSP) ส่วนใหญ่ สามารถสร้างผลกำไรได้น้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้รวม ถึงกับมี LSP บางรายทำกำไรได้เพียง 1 – 5% ดังเช่น LSP รายหนึ่งทีมียอดขายกว่า 1,000 ล้านบาท แต่กลับทำกำไรเพียง 10 ล้านบาท เช่นเดียวกับที่อีกหลายราที่ต้องขาดทุน จนเลือกเดินออกจากธุรกิจโลจิสติกส์ไปก็มี ด้วยเพราะเป็นธุรกิจที่แข่งขันด้านราคากันอย่างร้อนแรง

ทว่าจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่การแจ้งเกิดแพลตฟอร์ม MELOG คือหลังจากที่สิริพงศ์ ได้มีโอกาสให้คำปรึกษาและพูดคุยกับลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทขนส่ง METRANS คือ สานิตย์ สงสุรินทร์ (กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มอีทรานส์ จำกัด) ที่ปัจจุบันเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีล็อก จำกัด  จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างแอพพลิเคชั่นขึ้นมาเพื่อแก้ pain point ที่ทาง METRANS และ LSP รายอื่น ๆ ต้องเผชิญอยู่ นั่นคือ

1) การบริหารต้นทุนขนส่ง (Cost) เพราะต้นทุนขนส่งส่วนใหญ่กว่า 50 - 60% มาจากต้นทุนในด้านการดำเนินงาน ได้แก่ ค่าเชื้อเพลิง ยาง น้ำมันเครื่อง การซ่อมบำรุง การเกิดอุบัติเหตุ และการบริหารจัดการ ดังนั้นหากสามารถลดต้นทุน KSF คือ บาท/กิโลเมตร ได้ ทางผู้ประกอบการก็จะได้กำไรมากขึ้น จากการนำเอาเทคโนโลยีโลจิสติกส์ (LogTech) มาช่วยอำนวยความสะดวก เหมือนโปรแกรม ERP ในโรงงานอุตสาหกรรม แต่กรณีนี้จะเป็น ERP สำหรับธุรกิจขนส่งและกระจายสินค้า

2) การติดตามสถานะ (Status) ทำให้ผู้เป็นเจ้าของรถบรรทุกไม่ต้องกังวัลใจกับพนักงานขับรถ ตัวรถบรรทุก หรือสินค้าที่จะต้องส่งไปยังจุดหมายปลายทางให้ตรงเวลา โดยนำเทคโนโลยีโลจิสติกส์ มาช่วยในการติดตามสถานะ พร้อมทั้งอัพเดทได้ตลอดเวลา และรวมไปถึงศึกษาพฤติกรรมของผู้ขับขี่รถบรรทุก

3. การจัดการที่ทันสมัย (Management) เพื่อยกระดับภาคการขนส่งที่พบว่าจากผู้ประกอบการ 25,500 ราย มีมากกว่า 98% ยังไม่ได้รับรองมาตรฐาน Q-Mark จึงมีเพียง 2% เท่านั้นที่ได้รับการรับรอง รวมไปถึงการต่อยอดด้านบริการการเงิน เพื่อให้เครดิตสกอร์สำหรับผู้ขับรถมืออาชีพ จะสามารถนำเงินมาหมุนในธุรกิจได้

ส่ง MELOG สู่ตลาด

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่สิริพงศ์เป็นนักศึกษาปริญญาเอก ด้านโลจิสติกส์และการจัดการซัพพลายเชน หลักสูตรนานาชาติ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งมีนโยบายส่งเสริมให้นักศึกษานำผลงานไปสร้างเป็นธุรกิจได้จริงและมีทุนสนับสนุนผลงานวิจัย จึงนำไปสู่การก่อตั้งกิจการสตาร์ทอัพในนาม บริษัท มีล็อก จำกัดขึ้น

หลังจากแนวคิดการสร้างแอพพลิเคชั่นตกผลึก จึงนำโครงการไปเสนอกับสจล. กระทั่งได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) ของกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED FUND) จำนวน 1.5 ล้านบาทและผู้ก่อตั้งทั้งสองต่างใส่ทุนอีกคนละ 200,000 บาท แล้วนำไปสู๋การเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์โลจิสติกส์ MELOG หรือแพลตฟอร์มรถร่วมเถ้าแก่น้อย) เมื่อปี 2565 ซึ่งใช้เวลาพัฒนาอยู่ราวครึ่งปี จึงสำเร็จและเริ่มทดลองใช้จริงอย่างเป็นทางการแล้ว 

แม้ขณะนี้ยังไม่ได้มี transaction จำนวนมาก แต่เราก็มองว่าจะค่อย ๆ สร้างและมีจำนวนรถเพิ่มเข้ามา ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือต้องการให้เกิด market place จริง ๆ แต่ช่วงแรกต้องให้มีรถหรือ user เข้ามาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อน

ทั้งนี้ MELOG เริ่มให้ผู้ขับรถรายย่อยเข้ามาใช้บริการได้ฟรีใน 3 เดือนแรก โดยเน้นกลุ่มเจ้าของรถบรรทุกอิสระที่มีมากกว่าแสนราย และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์อีกกว่า 25,500 ราย รวมไปถึงรถบรรทุกที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งกว่า 1.5 ล้านคัน (ได้แก่ รถบรรทุก รถกระบะ รถตู้) ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าร่วมทดลองใช้งาน app แล้ว 50 คัน ที่เป็นทั้งลูกค้าบริษัทโลจิสติกส์และกลุ่มลูกค้ารายย่อยหรือเถ้าแก่น้อย โดยบริษัทมีรายได้จากการใช้งานที่เดือนละ 500 บาท/เดือน/คัน 

คุณสมบัติที่สำคัญของ MELOG จากคำบอกเล่าของสิริพงศ์คือ ในระยะแรกจะมีระบบติดตามรถบรรทุก ที่สามารติดตามได้ว่าจะวิ่งไปที่ใดบ้าง ไปจอดตามจุดต่าง ๆ (Multidrop) คำนวณต้นทุน บาท/กิโลเมตร การใช้ความเร็วที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ การใช้ยาง การแจ้งเตือนการซ่อมบำรุง และติดตามรถในกองยานพาหนะทุกคัน รวมไปถึงการสรุปรายได้ในแต่ละเดือน และการควบคุมมาตรวัดที่สำคัญในงานโลจิสติกส์  และขยายบริการ Marketplace ฝั่งลูกค้าที่ต้องการหาผู้ขนส่งเข้าไปรับของจะโพสงานได้ ฝั่งความต้องการ (Demand) และอีกด้านจะเป็นฝั่งอุปทาน (Supply) เจ้าของรถ และตัวแทน ก็สามารถเข้ามาโพสรับงานได้ ดูระยะทาง ประเภทรถ และค่าบริการในระบบ ต่อยอดไปถึงการบริหารรถ และการจัดการงานซ่อมบำรุงและจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ โดยนำพันธมิตรมาทำงานร่วมกัน เช่น ผู้ผลิตยาง ผู้ผลิตน้ำมันเครื่อง ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถบรรทุก ฯลฯ   

สำหรับระยะต่อไปจะนำระบบ Machine Learning และปัญญาประดิษฐ์ ( AI) เข้ามาช่วยให้ระบบศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ขับรถบรรทุก ลักษณะเส้นทาง การวิ่ง การทำเวลา รวมถึงคาดการณ์ด้านการขนส่ง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยยกระดับมาตรฐานของวงการโลจิสติกส์ในประเทศไทยให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น
ต่อยอดเพิ่มในส่วนอะไหล่

app ของเราน่าจะช่วยผู้ประกอบการหรือเจ้าของรถบรรทุกรายเล็กได้มาก เพราะเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดเรื่องบประมาณและความเข้าใจในธุรกิจ ซึ่งมองว่าจะต่อยอดไปยังเรื่อง Geen Logistic ได้ด้วยถ้าหลังจากนี้สามารถบริหารเรื่องการใช้น้ำมันได้ดี 

ทั้งนี้สิริพงศ์ คาดหวังว่าภายในปีแรก น่าจะมีรถบรรทุกในระบบราว 200-300 คัน  และภายใน 5 ปี น่าจะอยู่ที่ 20,000 - 30,000 คัน ด้วยการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สมาคมโลจิสติกส์ และผู้ประกอบการที่เรียนหลักสูตรโลจิสติกส์ รวมถึงสื่อสารถึงประโยชน์ของแพลตฟอร์ม MELOG ผ่านทางเพจMELOG Logistics Platform แพลตฟอร์มรถร่วมเถ้าแก่น้อย 

โดยบริษัทวางกรอบหารายได้ไว้ 4 รูปแบบ 1. กลุ่มลูกค้ารายย่อย (B2C) แบบเช่าระบบ อัตรา 500 – 1,200 บาท/คัน (ขึ้นกับ Feature ที่ใช้)  2. กลุ่มลูกค้าองค์กร (B2B) อัตรา 50,000 – 70,000 บาท/องค์กร และมีการดูแลระบบรายปี   3. รายได้ตัวแทน (แบ่งจากการจับคู่งาน) ซึ่งจะมีทีมพัฒนาธุรกิจจัดหางานมาให้ และดูแลเรื่องทีมรถบรรทุกเขารับงานตามสัญญาว่าจ้างเป็นโครงการๆ ไป  4. การฝึกอบรมและให้คำปรึกษา พัฒนาระบบขนส่งและบุคลากรให้เป็นพนักงานมืออาชีพ (Smart Driver)

สำหรับรูปแบบที่ 1 และ 2 ทำได้ทันที แต่มองว่าจะทำได้ครบทั้ง 4 รูปแบบภายในไม่เกิน 2 ปี

ปักธงตลาดต่างแดน-สู่ตลาดหุ้น
เส้นชัยต่อไปของ MELOG ที่สิริพงศ์วางไว้คือการนำแพลตฟอร์มไปเสนอขายแก่บริษัทโลจิสติกส์ในประเทศกลุ่มตลาดเอเชียแปซิฟิคซึ่งรวมแล้วมีจำนวนรถบรรทุกราว 10 ล้านคัน โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่มีจำนวนรถบรรทุกสูงเป็นอันดับหนึ่งที่ 4-5 ล้านคัน เนื่องจากมองว่านวัตกรรมของ MELOG มีศักยภาพเพียงพอที่จะไปให้บริการในตลาดของประเทศต่าง ๆ  ที่มีจำนวนรถบรรทุกจำนวนมากกว่าในไทย จึงมีตลาดใหญ่พอให้เข้าไปสอดแทรกได้ไม่ยาก

เช่นเดียวกับจากการสนับสนุนของ สจล. ทำให้บริษัทมีโอกาสได้ไปเปิดตลาดและนำเสนอผลิตภัณฑ์ในแง่ความเป็น AI Deep Tech กับ Mobility ที่ประเทศกลุ่มยุโรป เช่น เยอรมนี ที่มีการเติบโตและพัฒนการด้านเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ด้วย ซึ่งมองว่าระบบของ MELOG จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเชื่อมต่อกับระบบบขนส่งมวลชนใน Smart City ได้

ทั้งนี้จากเป้าหมายที่จะมีรถบรรทุกเข้าสู่ระบบ MELOG ที่ขั้นต่ำประมาณ 20,000 คันภายใน 5 ปี ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้ถึงราว 100 ล้านบาท จะเป็นบันไดก้าวสำคัญให้บริษัทเป็นกิจการสตาร์ทอัพที่มีคุณสมบัติพร้อมระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) หรือศูนย์กลางการซื้อ ขายหุ้นของวิสาหกิจขนาดกลาง (SME) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ได้

จริง ๆ เราฝันถึงขั้นว่าเข้าไปอยู่ใน SET แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องสร้างรายได้ตามเป้าหมาย จนมีคุณสมบัติผ่านคือรายได้ถึง 50 ล้านบาทก็จะสมัครเข้า LiVE platform และระดมทุนผ่าน LiVEx 

สิริพงศ์ให้มุมมองในฐานะผู้ก่อตั้งกิจการสตาร์ทอัพว่า อุปสรรคหรือความท้าทายสำคัญที่เขาต้องเผชิญ คือการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม MELOG โดยเฉพาะการที่ต้องสื่อสารให้ LSP รับรู้ว่าการใช้งานแล้วมีประโยชน์และมีข้อดีต่อธุรกิจโลจิสติกส์อย่างไร จนตัดสินใจทดลองใช้งานจริง พร้อมฝากถึงเจ้าของกิจการสตาร์ทอัพรายอื่น ๆ อีกว่า หากจะประสบความสำเร็จได้ต้องเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจว่าสามารถขายได้จริงและมีความเป็นไปได้บนหลักการและเหตุผล แต่ที่สำคัญคืออย่าดื้อดึงและหลอกตัวเอง

อย่าหลอกตัวเองและอย่าดื้อ เพราะไม่เช่นนั้น เราก็จะกลายเป็นสตาร์ทอัพซอมบี้ คืออยู่ได้แต่ว่าไม่เติบโต และผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้น แต่การทำธุรกิจจะต้องมีจุดที่ develop สินค้าให้ไปต่อได้ หรืออาจจะต้องไปเจอคนใหม่ ๆ หรือหา input ใหม่ ๆ จึงจะทำให้เราเห็นทางออกมากขึ้น เช่นเดียวกับที่ผู้สนับสนุนและทีมงานก็สำคัญต่อการทำสตาร์ทอัพด้วย 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.