เอ็นที เดินเกม ลดคน 7,000 คน ในปี 70 เร่งปั๊มยอดดิจิทัล-5G ตอบโจทย์สมาร์ทซิตี้

คาดปี 66 กำไรพันล้าน

พ.อ. สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที กล่าวว่า รายได้ครึ่งปีแรก 2566 ( ม.ค.-มิ.ย.2566) เอ็นทีมีรายได้ 42,447 ล้านบาท รายจ่าย 40,900 ล้านบาท กำไร 1,547 ล้านบาท แต่หากรวมค่าใช้จ่ายโครงการเกษียณก่อนอายุ ที่มีค่าใข้จ่าย 2,185 ล้านบาท มีผู้เข้าร่วมโครงการ 851 คน ทำให้ครึ่งปีแรกขาดทุน 638 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีจะมีกำไร 1,000-2,000 ล้านบาท หากไม่มีรายการพิเศษเกิดขึ้น เช่น การแพ้คดีความ เป็นต้น 

สำหรับรายได้แต่ละบริการแบ่งออกเป็น บริการโครงสร้างพื้นฐาน 4,807 ล้านบาท,บริการระหว่างประเทศ 1,107 ล้านบาท ,บริการโทรศัพท์มือถือ 23,497 แบ่งเป็นรายได้จากพันธมิตร 22,303 ล้านบาท รายได้รีเทล 1,194 ล้านบาท ,บริการบรอดแบนด์ 9,289 ล้านบาท ,บริการดิจิทัล 2,032 ล้านบาท และบริการอื่นๆ 9 ล้านบาท 

ทั้งนี้รายได้เอ็นที 50 % มาจากรายได้พันธมิตรผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ โดยแต่ละปีเอ็นทีมีรายได้จากพันธมิตร 50,000 ล้านบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายจะเหลือกำไร 10,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากคลื่นที่นำมาให้พันธมิตรใช้งานนั้นจะหมดอายุในปี 2568 ทำให้เอ็นทีต้องเร่งหารายได้จากธุรกิจอื่นเพิ่มเติม รวมถึงลดค่าใช้จ่าย และกำลังคน

ลดพนักงาน 7,000 คนในปี 70 

ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จึงมีแผน 5 ปี (2566-2570) ให้เอ็นทีลดกำลังคนจาก 13,800 คน เหลือประมาณ 7,000 คนภายในปี 2570 นอกจากนี้ เอ็นทีเองก็มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ให้องค์กรกระชับขึ้น คาดว่าจะเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทภายในเดือน ก.ย.2566 เพื่อประกาศใช้โครงสร้างใหม่ม.ค.2566

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารเคยประกาศว่า ปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่จัดโครงการเกษียณก่อนอายุ ทว่ายอดการเข้าร่วมโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โจทย์ที่สคร.ให้ เอ็นทีจะทำอย่างไร หากไม่สามารถเพิ่มรายได้ และต้องขาดทุนปีละหมื่นล้าน และรัฐวิสาหกิจไม่สามารถไล่คนออกได้ ดังนั้นแนวทางที่เป็นไปได้คือ การปรับโครงสร้างที่ซ้ำซ้อนให้กระชับขึ้น การยุบศูนย์บริการเพื่อนำสถานที่มาบริหารจัดการให้ผู้อื่นเช่า บางสายงานหากไม่จำเป็นอาจต้องยุบทิ้ง และย้ายบุคลากรไปทำงานในส่วนที่สำคัญแทน 

ขณะที่บุคลากรส่วนใหญ่กว่า 4,000 คน อายุเกิน 50 ปี อนาคตหากมีโครงการเกษียณก่อนอายุ ต้องเพิ่มเงื่อนไขอายุ 57 ปี ห้ามเข้าร่วมโครงการ ไม่เช่นนั้นพนักงานจะรอจนถึง 57 ถึงจะเข้าร่วมโครงการ ยอมรับว่าที่ผ่านมาคนเข้าร่วมโครงการน้อยเพราะคิดว่าเอ็นทียังมีกำไรและคงมีโครงการออกมาอีกในทุกปี เอ็นทีขอย้ำว่า

หากในปี 2568 เอ็นทีไม่สามารถหารายได้มาเติมในส่วนที่หายไปได้ เอ็นทีอาจมีมาตรการในการวัดความสามารถในการทำงานอย่างเข้มงวด 

ภายในปี 68-69 จะมีพนักงานที่เกษียณตามอายุอีกหลักพันคน ซึ่งก็ถือว่ามีจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ สคร.ให้ไว้ 

ดัน 5G ตอบโจทย์สมาร์ทซิตี้

พ.อ. สรรพชัยย์ กล่าวว่า นอกจากแผนการลดกำลังคนแล้ว เอ็นทีต้องเร่งสร้างรายได้จากบริการอื่นๆเพิ่มขึ้น เมื่อไม่มีคลื่น 850MHz,2100MHz และ 2300 MHz ในปี 2568 เอ็นทีต้องเร่งสร้างบริการ 5G คลื่น 700 MHZ และ 26GHz โดยคาดว่าภายในไตรมาส 4 ปีนี้ จะเปิดให้บริการคลื่น 700 MHz ซึ่งคลื่นนี้นอกจากจะเป็นคลื่นในการให้บริการลูกค้าเดิมของเอ็นทีจากคลื่นเดิมจำนวน 2.5 ล้านเลขหมายแล้ว เอ็นทีจะใช้คลื่นนี้ในการให้บริการ IoT ด้วย

ขณะที่คลื่น 26GHz เน้นการลงทุนเป็นโปรเจ็คเมื่อมีลูกค้า โดยลงทุนครั้งแรกไปแล้ว 60 กว่าล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการลูกค้า B2B ภายในไตรมาสแรกปี 2567

ทั้งนี้การให้บริการ 5G ของเอ็นทีจะเน้นความสมาร์ท 4 ด้าน ได้แก่ สมาร์ท เฟคทอรี่,สมาร์ทเฮลท์,สมาร์ทเอ็นเนอร์จี และ สมาร์ททรานส์สปอร์ต เอ็นทีคงไม่ได้ใช้ระบบ 5G เพื่อสร้างสมาร์ท ซิตี้ เพราะมองว่าสมาร์ท ซิตี้ คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สามารถคาดการณ์รายได้ที่จะเกิดขึ้นได้ ในขณะที่เอ็นทีต้องเน้นการเสนอแผนงานที่ได้รายได้ ดังนั้นหากประเทศไทยต้องการสร้างสมาร์ท ซิตี้ รัฐบาลต้องเป็นคนลงทุน 

ดาวเทียม 126E ยิงปี 2569

สำหรับกลุ่มธุรกิจดาวเทียมหลังชนะประมูลดาวเทียมตำแหน่งวงโคจร 126E คาดว่าจะยิงเพื่อให้บริการได้ในปี 2569 ปัจจุบันระหว่างการวางแผนและดำเนินการอยู่ รวมถึงก่อนหน้านี้ทาง เอ็นที ได้มีการลงนามสัญญากับพาร์ทเนอร์บริการดาวเทียมระดับโลกอย่าง OneWeb ผู้ให้บริการดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) ในการเป็น Landing Station ณ สถานีดาวเทียมสิรินธร จ.อุบลราชธานี อยู่ระหว่างรอการทดสอบติดตั้งอุปกรณ์ และมีแผนเปิดให้บริการราวต้นปีหน้า 

ส่วนความคืบหน้าในการเป็นผู้ให้บริการดาวเทียมภาครัฐ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบถามความต้องการใช้งาน 5 ปี จากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้มีการลงทุนที่เหมาะสมกับปริมาณความจุที่ต้องการใช้งาน

บริการดิจิทัลมาแรงคาดรายได้ 7,000 ล้าน

พ.อ. สรรพชัยย์ กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มบริการดิจิทัลมีรายได้ที่ชัดเจนมากขึ้น คาดว่าในอนาคตอันใกล้ต้องสามารถสร้างรายได้ถึง 5,000-7,000 ล้านบาท สำหรับผลประกอบการล่าสุด บริการเดิมอย่าง  NT CLOUD ยังรักษาการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20-25 %  และบริการใหม่ที่เริ่มทำรายได้ เช่น ระบบ National Single Window (NSW) ที่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2566 เป็นต้นมา คาดว่าจะสร้างรายได้รวมในปี 2566 ประมาณ 160 ล้านบาท  

และ บริการ NT Big Data & AI ซึ่งเปิดให้บริการมา 4 ปี มีอัตราการเติบโตก้าวกระโดดปีละ 45% จากเทรนด์ปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการทำธุรกิจ   
              
ขณะที่ NT Data Center ให้บริการ 13 แห่งทั่วประเทศ รองรับได้มากกว่า 1,200 racks ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 90%  NT จึงมีแผนในการสร้าง Data Center แห่งใหม่ความจุมากกว่า 1,000 racks เพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้นทุกปี  อีกทั้งขยายการพัฒนาธุรกิจบริการดิจิทัลด้านApplication Platform & Digital Solutions เพื่อตอบสนองความต้องการของหน่วยงานภาครัฐด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ท ซิตี้

เอ็นทียังมองหาโอกาสตลาดในอนาคตเพิ่มเติม เช่น การให้บริการ ฟินเทค ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับธนาคารในประเทศไทย รวมถึงการเข้าสู่ธุรกิจ EV ด้วย

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.