“GFC” เสนอขายไอพีโอ 60 ล้านหุ้น จ่อเทรด mai ไตรมาส 3/66
นายกรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GFC เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 60 ล้านหุ้น พร้อมเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในไตรมาส 3/2566
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ใช้ลงทุนขยายคลินิก GFC สาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9 ตลอดจนการลงทุนในสาขาย่อยอื่นๆ ตามพื้นที่ต่างจังหวัด ที่มีศักยภาพและมีฐานลูกค้าผู้มีบุตรยาก เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการเพิ่มมากขึ้น
รวมไปถึงการเพิ่มศูนย์ฝึกอบรมนักเทคนิคการแพทย์ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของกลุ่มบริษัท ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตัวสำหรับรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้ารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติในอนาคต โดยบริษัทฯพร้อมขับเคลื่อนองค์กร ให้สอดรับกับวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน ที่มีความมั่นคง ยั่งยืน และยึดมั่นในหลักจริยธรรม
ทั้งนี้ GFC มีบริษัทย่อย 2 บริษัท ที่ถือหุ้น 99.99% ได้แก่ 1. บริษัท จีโนโซมิกส์ จำกัด (GSM) ดำเนินธุรกิจการให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing : NGS ) และ 2. บริษัท จีเอฟซี เฟอร์ทิลีตี กรุ๊ป จำกัด (GFCFG) เป็นบริษัทโฮลดิ้ง (holding company) จัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในกิจการอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัท
ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 80 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 160 ล้านหุ้น มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ
สำหรับธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัท แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. การให้บริการตรวจเบื้องต้นก่อนให้คำแนะนำหรือรักษา 2. การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IUI 3. การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI 4. การให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน NGS และ 5. การให้บริการแช่แข็งไข่และการฝากไข่
โดยลูกค้าของกลุ่มบริษัท ประกอบด้วย กลุ่มลูกค้าผู้ที่วางแผนการมีบุตรในอนาคต, กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยที่สนใจอยากมีบุตร, กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยกับชาวต่างชาติที่สนใจอยากมีบุตร และกลุ่มลูกค้าคู่สมรสชาวต่างชาติ ที่สนใจอยากมีบุตร
นพ.ประมุข วงศ์ธนะเกียรติ รองประธานกรรมการ บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GFC กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงของการดำเนินชีวิตของประชากรไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะค่านิยมในการดำเนินชีวิตที่ให้ความสำคัญกับความสำเร็จและความพร้อมก่อนการมีบุตร ทำให้ประชากรกลุ่มวัยเจริญพันธุ์มีแนวโน้มการแต่งงานช้าลง ซึ่งถือเป็นโอกาสของกลุ่มบริษัท GFC ในการสร้างรายได้จากการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากกับประชากรวัยเจริญพันธุ์ที่มีบุตรช้า
จากข้อมูลของกลุ่มบริษัทฯ พบว่า ในปี 2564 สัดส่วนผู้มีบุตรยากที่เข้ามารับบริการรักษากับกลุ่มบริษัทส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีบุตรยากที่อยู่ในช่วงอายุ 35-39 ปี คิดเป็น 44.74% ของจำนวนผู้มีบุตรยากที่เข้ามารับบริการรักษากับกลุ่มบริษัททั้งหมด รองลงมาเป็นกลุ่มผู้มีบุตรยากที่อยู่ในช่วงอายุ 40-45 ปี และ 30-34 ปี คิดเป็น 24.74% และ 23.03% ของจำนวนผู้มีบุตรยากที่เข้ามารับบริการรักษากับกลุ่มบริษัททั้งหมด ตามลำดับ
โดยข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มบริษัทได้รับผลเชิงผลบวก จากการที่ประชากรไทยมีบุตรช้าลง ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตไทยในปัจจุบัน ประกอบกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้ภาวะมีบุตรยากเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดที่จะแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการอุ้มบุญบางมาตรา เพื่อให้คู่สามีภรรยาชาวต่างชาติสามารถเข้ามาทำการอุ้มบุญในไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงส่งผลดีต่อการเติบโตของตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IVF ของประเทศไทยในอนาคต
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์เติบโต เนื่องมาจากการขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยาก (Fertility Tourism) ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก Allied Market Research ในปี 2562 พบว่า ตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากทั่วโลก มีมูลค่าประมาณ 11.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าในปี 2570 ตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากทั่วโลก จะมีมูลค่าประมาณ 33.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 14.20% ต่อปี
โดยมองว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงที่สุด หรือมีมูลค่าประมาณ 5.62 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2570 และประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของ Fertility Tourism ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น
ทางด้านจุดแข็งของ GFC นอกจากจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจรักษาผู้มีบุตรยากรายแรกที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว GFC ยังเป็นศูนย์รวมแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีชั้นนำด้านการเจริญพันธุ์ เพื่อผู้หญิงยุคใหม่ และคู่สมรสที่ปรารถนาอยากมีบุตรที่สมบูรณ์ แข็งแรง มาเติมเต็มความสุขของครอบครัว จากแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวชและเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ที่มีประสบการณ์ด้านการให้บริการทางการแพทย์ผู้มีปัญหามีบุตรยากมากกว่า 23 ปี
ขณะเดียวกัน GFC มีการนำเทคโนโลยี Early Embryo Viability Assessment (EEVA) ซึ่งเป็นการนำระบบ AI จากประเทศสหรัฐอเมริกามาช่วยประเมินตัวอ่อน ซึ่งเป็นที่แรกในประเทศไทยในปี 2563 โดยได้พัฒนาให้สามารถแสดงผลข้อมูลเกี่ยวกับตัวอ่อน และวิเคราะห์คุณภาพของตัวอ่อนอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ
นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า GFC จัดเป็นหุ้นที่น่าลงทุน จะจัดเป็นหุ้นประเภท Growth Stock ที่สามารถให้ผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่มีอัตราการเติบโตของรายได้เติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ 13.37%
โดยผลการดำเนินงานในปี 2563-2565 และงวด 3 เดือนแรก ปี 2566 กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการให้บริการ 214.42 ล้านบาท 242.12 ล้านบาท และ 275.91 ล้านบาท และ 86.11 ล้านบาท ตามลำดับ โดยรายได้จากการให้บริการของกลุ่มบริษัทจะสอดคล้องกับจำนวนผู้เข้ามารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งกลุ่มบริษัทมีรายได้จากการให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI เป็นรายได้หลัก
ขณะที่กำไรสุทธิปี 2563-2565 และงวด 3 เดือนแรก ปี 2566 อยู่ที่ 66.55 ล้านบาท 69.63 ล้านบาท 65.68 ล้านบาท และ 18.93 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่อัตราส่วน ROE และอัตราส่วน ROA สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม โดยอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์สูงกว่าค่าเฉลี่ย และสูงสุดถึง 72.58%
อย่างไรก็ตาม GFC พิสูจน์ถึงศักยภาพและความพร้อมก้าวสู่ธุรกิจรักษาผู้มีบุตรยากรายแรกที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ควบคู่กับแผนการขยายสาขาเพิ่มอีก 2 แห่ง หลังจากการระดมทุนในครั้งนี้ ยิ่งเป็นการสร้าง New S-Curve ใหม่ให้กับบริษัทในอนาคต
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.