ตลท.วางยุทธศาสตร์ 3 ปี ชู 3 เรือธงสำคัญขับเคลื่อนตลาดทุนไทย

     Back to Basics

     ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจ, การเปลี่ยนแปลงประชากร, ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และตลาดทุนโลก ดังนั้นการหันกลับมาสร้างความแข็งแกร่งด้านพื้นฐาน (Fundamental) , เศรษฐกิจ และ ธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ถือเป็นเรื่องสำคัญ

     นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดทำ "แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (พ.ศ.2568 - 2570) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายใต้แนวคิด “เพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม (Fair & Inclusive Growth)”

     "อัสสเดช คงสิริ" กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือนที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง สิ่งที่ ตลท.ยังคงดำเนินการต่อเนื่องคือการทําเพื่อส่วนรวมและสร้างความเท่าเทียมอย่างแท้จริง

     และ 3 ปีจากนี้ ตลท.คงมุ่งมั่น "สร้างโอกาสการเติบโต (Enable Growth Ambitiously)" เพิ่มความน่าสนใจของบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ผ่าน โครงการ “Jump+” โดยผลักดันการเพิ่มมูลค่า ผลการดำเนินงานและศักยภาพของ บจ.ไทย พร้อมใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) บริการให้คำปรึกษา เพิ่มช่องทางสื่อสารกับผู้ลงทุน รวมทั้งสิทธิประโยชน์จาก ตลท. หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานพันธมิตร

     รวมถึงพัฒนาดัชนีใหม่สะท้อนผลการดำเนินงานของบริษัทที่ประสบความสำเร็จจากโครงการ Jump+ และสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน(IAA)จัดทำบทวิเคราะห์สนับสนุนการตัดสินใจลงทุน โดยกลุ่มเป้าหมาย Jump+ ตลท.จะพิจารณาด้านการซื้อขาย ได้แก่ P/BV, Research coverage ด้านผลการดำเนินงาน อาทิ Revenue, growth , Margin ส่วนด้านผู้ถือหุ้น เช่น ROE , Dividend เป็นต้น

     สิ่งที่ บจ. ดำเนินการ คือ วิเคราะห์ผลการดำเนินงาน, จัดทำแผนและกำหนดเป้าหมายการเติบโต และ สื่อสารความคืบหน้าของแผนให้ผู้ลงทุน

"ที่ผ่านมามี บจ. ย้ายจากตลาด mai ไป SET ราว 56-57 บริษัท นี่คือตัวอย่างของบริษัทที่ดีมีการเติบโต ทุกธุรกิจเรื่องของการเพิ่มขนาดค่อนข้างสำคัญ การทำ M&A เป็นอีกหนึ่งกลไกในการเติบโตก้าวกระโดด โดยจะมีการพูดคุยกับภาครัฐเข้ามาสนับสนุน"

     นอกจากนี้ ยังเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่น ด้วยการนำ AI มาใช้ในงานด้านกำกับบริษัทจดทะเบียน เพื่อติดตามเฝ้าระวัง ดำเนินมาตรการ และแจ้งเตือนแก่ผู้ลงทุนอย่างทันท่วงที พร้อมส่งเสริมและขยายการใช้ผลิตภัณฑ์ตลาดทุนที่ตอบโจทย์ผู้ลงทุนที่หลากหลายและขยายเวลาซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ ควบคู่การดึงดูดผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ผ่านการนำเสนอข้อมูล (roadshow) ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

"ตลาดหลักทรัพย์ฯมุ่งสู่การเป็น Listing Hub แหล่งระดมทุนของธุรกิจที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ เหมือนตลาดหุ้นสิงคโปร์, ฮ่องกง ซึ่งจุดแข็งของไทยคืออุตสาหกรรมอาหาร ท่องเที่ยว และ Healthcare ยกระดับธุรกิจของไทย นอกจากนี้ ตลท.ศึกษาแผนนำสตาร์อัพและ SME เชื่อมต่อกับตลาดทุน ซึ่งได้ศึกษาตลาดหุ้นเกาหลี , ตลาดอิสตันบูล ประเทศตุรกี มี Venture Capital ทำเป็น Platform ที่เป็นตัวกลางให้ผู้ประกอบการรายย่อยและนักลงทุนมาพบกัน เป็นต้น"

     โจทย์สำคัญต่อมา คือ "การพัฒนาเพื่อความทั่วถึง (Grow Together & Inclusively)" โดยพัฒนา "Bond Connect Platform" เพิ่มโอกาสผู้ลงทุนบุคคลเข้าถึงการลงทุน "พันธบัตรรัฐบาล" ในตลาดแรกและตลาดรองได้ง่ายขึ้น โดยผู้ลงทุนบุคคลสามารถจองซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกในลักษณะเดียวกับการจองซื้อหุ้น IPO และยังสามารถซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรองผ่าน Platform พร้อมทั้งสามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันสำหรับการลงทุนสินทรัพย์ประเภทอื่นได้

     อีกทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหนึ่งในโครงสร้างดังกล่าว ได้แก่ การพัฒนาระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ใหม่ (SET Clear) กำหนดเริ่มให้บริการในปี 2570 และขยายความร่วมมือในรูปแบบ IT service partnership อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ร่วมตลาด

"พันธบัตรรัฐบาลถือเป็นหลักทรัพย์ที่มีเสถียรภาพ ซึ่ง Bond Connect Platform ช่วยแก้ pain point ให้รายย่อยสามารถซื้อขายผ่านบัญชีหลักทรัพย์ที่มีอยู่ และตลาดรองมีสภาพคล่องมากขึ้น สามารถเปลี่ยนมือได้ง่ายขึ้น แต่ ตลท.ไม่มีแผนนำหุ้นกู้บริษัทเอกชนเข้ามาซื้อขายใน Platform นี้ ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมอยู่ระหว่างศึกษา แต่จะไม่ใช้วิธี Auto Matching"

     สุดท้าย คือ "สรรสร้างคนและอนาคต (Groom People & Our Future)" พัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ทางการเงิน "สร้างคนรุ่นใหม่ (Next Gen)" ทั้ง ผู้ลงทุน ผู้ประกอบวิชาชีพ ภาคการศึกษา และ Influencer ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการเงินการลงทุน พร้อมนำเสนอ SET Learn Scape Platform รองรับกระบวนการการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคลเพื่อพัฒนาบุคลากรบริษัทจดทะเบียน ช่วยสร้างศักยภาพพนักงาน เสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ทั้ง 2 โครงการจะร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำเสนอเนื้อหาความรู้ให้กลุ่มเป้าหมายมีภูมิคุ้นกันด้านการเงินและการลงทุน

     สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ low carbon economy ร่วมกับพันธมิตร ด้วยการออกแบบรูปแบบ Carbon Market Platform ที่เหมาะสม เพื่อรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั้งในตลาดภาคบังคับ (Compliance market) และภาคสมัครใจ (Voluntary market) พัฒนาเครื่องมือในการคำนวณ Carbon Footprint ขององค์กร (SET Carbon) พร้อมสนับสนุนการสร้างหลักสูตรและจัดสอบผู้ทวนสอบ (Verifier) เพื่อส่งเสริมการมุ่งสู่ Low Carbon Economy  และ Net Zero ในปี 2593 

"ตลาดหลักทรัพย์ฯนำร่อง 20 บริษัท และในปี 2568 จะขยายจำนวนบริษัทจดทะเบียน รวมถึงบริษัทนอกตลาด(Non Listed) รวมทั้งพัฒนา “Carbon Professional” โดยเฉพาะกลุ่ม Verifier รองรับความต้องการของภาคธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 155 ราย"

     อย่างไรก็ดี การวัดประสิทธิภาพของแผนงานต่างๆจะมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและใช้ตัวชี้วัด(KPI)ที่เหมาะสม ซึ่งในการประชุมกับคณะกรรมการตลาดจะมีการรายงานความก้าวหน้าและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา เช่น ทุกเดือน ทุกไตรมาส หรือทุกครึ่งปี ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพรวมของการดำเนินงานและการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

     นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวที่แตกต่างกัน เพื่อให้สามารถติดตามและประเมินผลได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีหรือการปรับระบบที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ

 

เอาให้ชัด! ตลท.คอนเฟิร์มไม่พบใบหุ้นปลอม "THG" เร่งออกมาตรการสกัด

"กลุ่มพลังงานน้ำมัน-ปิโตรเคมี" ฉุดกำไรตลาดรวม 9 เดือนปี 67 ทำได้ 6.8 แสนล้านบาท วูบ 5.4% 

"อัสสเดช" พร้อมปราบบอสปั่นหุ้น ฟื้นเชื่อมั่น ดันหุ้นไทยสู่ไฟแนนเชียลฮับ

 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.