NITMX โชว์ผลงาน Hack to the Max : Digital Infrastructure สู่ Digital Payment ไทย
ถึงแม้ว่าชื่อ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด หรือ NITMX หลายคนอาจจะไม่คุ้นกันมากนักแต่ถ้าพูดถึงบริการ “พร้อมเพย์ (PromptPay)” ที่พลิกโฉมวิถีการโอนเงินและชำระเงินของคนไทย ทุกคนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี NITMX คือผู้พัฒนาและดูแลระบบการชำระเงินข้ามธนาคารแบบ Real-Time โดยได้รับมอบหมายให้เป็น Interbank Transaction Management and Exchange (ITMX) ของประเทศไทย ด้วยความที่เป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของประชาชน จึงจัดงาน “Hack to the Max : Digital Infrastructure” Hack ข้ามขีดจำกัด สู่ระบบการเงินแห่งอนาคต เป็นการแข่งขัน Hackathon ที่เรียกได้ว่า “แฮคเพื่อชาติ” เพราะโซลูชั่นหรือไอเดียที่จะได้ในงานนี้ มีโอกาสที่จะนำมาต่อยอดกับโครงสร้างพื้นฐานการเงินของไทยได้
นายฉัตรชัย ดุษฎีโหนด กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด หรือ NITMX เปิดเผยว่า “NITMX ก่อตั้งมาเป็นปีที่ 20 แล้ว เราเริ่มต้นจากการให้บริการ ATM ระหว่างธนาคาร และในปี 2560 ที่เกิด PromptPay ขึ้น และจากแนวคิดที่ว่า PromptPay ยังสามารถต่อยอดไปได้มากกว่าที่ให้บริการในขณะนี้ NITMX จึงจัดโครงการ “Hack to the Max : Digital Infrastructure” Hack ข้ามขีดจำกัด สู่ระบบการเงินแห่งอนาคต ขึ้น เป็นเวทีให้กับนักคิด นักพัฒนารุ่นใหม่ ได้สร้างสรรค์ ไอเดียและนวัตกรรมใหม่ที่อาจจะแตกต่าง หรือเป็นสิ่งที่ NITMX มองไม่เห็น เพื่อเฟ้นหาทีมที่มีความสามารถในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลของประเทศไทย”
การจัด Hackathon ของ NITMX ในครั้งนี้ มีความพิเศษตรงที่เป็น Hack ระดับชาติ คือ ผลิตภัณฑ์หรือไอเดียที่นำเสนอในโครงการนี้มีโอกาสหรือถ้าเป็นไอเดียที่ดีสามารถที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ระดับชาติได้
ขณะที่ ดร.ณัฐวัฒน์ สายโกสุม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานนวัตกรรม บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) เปิดเผยว่า “แนวโน้มสำคัญของระบบการชำระเงินในปัจจุบันทั่วโลกกำลังมุ่งไปใน 3 ทิศทางหลัก ได้แก่ 1. Open Infrastructure เช่น Open Banking และ Open Data 2. การชำระเงินข้ามพรมแดนแบบเรียลไทม์ (Cross-border Real-time Payment) และ 3. ความปลอดภัย (Security) เช่นการใช้เทคโนโลยี Adaptive Fraud Detection ซึ่งทั้งสามแนวโน้มนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ NITMX กำลังศึกษาและดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะในด้าน Cross-border Real-time Payment ซึ่งในปัจจุบัน NITMX ได้ให้บริการครอบคลุมถึง 9 ประเทศแล้ว”
สำหรับงาน Hackathon ของ NITMX เป็นงานที่มีผลกระทบระดับชาติ เพราะ NITMX เป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินด้านดิจิทัลของไทย ให้บริการระบบชำระเงินและโอนเงินระหว่างธนาคาร รวมถึงการให้บริการระบบชำระเงินและโอนเงินระหว่างประเทศด้วย อีกทั้งได้รับมอบหมายให้เป็น Interbank Transaction Management and Exchange ของประเทศ ดังนั้นโจทย์ที่นักคิด นักพัฒนารุ่นใหม่กำลังทำ ล้วนมีความสัมพันธ์กับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินด้านดิจิทัลของประเทศ นอกจากนี้ ยังได้รับคำปรึกษาและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญของ NITMX รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากภาคการเงินการธนาคาร
โดยโครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักคิด นักพัฒนารุ่นใหม่ สมัครเข้ามาร่วมโครงการมากกว่า 100 ทีม หลังจากเปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 27 ส.ค.-27 ก.ย. 67 และเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอ และคัดเลือกเหลือ 15 ทีมสุดท้าย จากนั้นเมื่อวันที่ 26-27 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา ได้มีการแข่งขัน Hackathon ให้ทั้ง 15 ทีม Pitching เพื่อคัดเลือกผู้ชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 1 ทีม
นอกจากนี้ ยังมีรางวัล “The Best of Track” แบ่งตามโจทย์การ Hackathon จำนวน 3 ทีม ประกอบด้วย
1.Innovative Payment Solutions ไอเดียนวัตกรรมที่มุ่งมั่นจะพัฒนา Payment solutions ที่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อระบบการทำธุรกรรมดิจิทัลในประเทศไทย จำนวน 1 ทีม
2.Sustainable Payment Solution ไอเดียนวัตกรรมทางการเงินที่สนับสนุนความยั่งยืนในภาคการธนาคารและการเงิน ผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่มีผลเชื่อมโยงกันตลอดห่วงโซ่มูลค่า ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จำนวน 1 ทีม
3.Data Solution for Banks ไอเดียนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมทางด้านการเงิน เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และเติบโตของธุรกิจได้อย่างมีมาตรฐาน จำนวน 1 ทีม
ผลการคัดเลือก ปรากฏว่า “ทีม CHANOM” จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คว้ารางวัลผู้ชนะอันดับ 1 ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมงาน Singapore Fintech Festival ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 6-8 พ.ย. 67 ซึ่งเป็นงานระดับโลกที่รวมผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนจากวงการฟินเทคทั่วโลก ถือเป็นโอกาสที่จะได้สัมผัสนวัตกรรมใหม่ๆ และเครือข่ายระดับสากล พร้อมตั๋วเครื่องบิน ที่พัก และการเดินทางตลอดทริป โดย NITMX เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายตลอดงาน
ตัวแทนจากทีม CHANOM ผู้ชนะในโครงการฯ กล่าวว่า “ทางทีมได้มีการนำเสนอการพัฒนาระบบ PrompUltimate นวัตกรรมใหม่ที่เป็นการยกระดับ QR PromptPay สร้าง Tier system เพื่อทำให้ร้านค้ามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น และลูกค้ามีความสบายใจในการโอนเงินมากขึ้น โดยนวัตกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากการเห็นปัญหาการทุจริต และบัญชีม้าในไทยแพร่หลายจำนวนมาก ซึ่งระบบนี้จะเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวได้
ทั้งนี้ การได้เข้าร่วมงาน Singapore Fintech Festival ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 6-8 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา รู้สึกตื่นเต้นและประทับใจมากๆ ซึ่งในงานดังกล่าวได้พบกับหลากหลายไอเดีย มุมมองใหม่ๆ ทั้งทางเทคโนโลยี และด้านการเงิน ซึ่งถือเป็นแนวทางในการนำมาปรับใช้ พัฒนาต่อยอด และแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลของประเทศไทยได้”
นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 ทีม ที่คว้ารางวัล “The Best of Track” ตามโจทย์การ Hackathon ได้แก่
1. ทีม 404 Money Not Found! จากคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แฮมเมอร์สเปซ และคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยลาดกระบัง คว้ารางวัล “The Best of Track” ในสายการแข่งขัน Innovative Payment Solutions
โดยตัวแทนจากทีม 404 Money Not Found! ได้ระบุว่า ทีมได้นำเสนอแนวคิด Offline Mobile Banking โซลูชันทางการเงินดิจิทัลที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาการชำระเงินในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ให้ผู้ใช้งานสามารถทำธุรกรรมได้อย่างต่อเนื่องและสะดวกสบายแม้อยู่ในสถานการณ์ที่เชื่อมต่อเครือข่ายไม่ได้
2. ทีม PromptAom จากคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัล “The Best of Track” ในสายการแข่งขัน Sustainable Payment Solution
โดยตัวแทนจากทีม PromptAom เผยว่า แนวคิดที่นำเสนอในครั้งนี้มุ่งแก้ไขปัญหาการออมเงินซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของคนในยุคปัจจุบัน โดยแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นจะช่วยจัดสรรเงินจากการใช้จ่ายในแต่ละวัน แปลงเป็นเงินออมและการลงทุนโดยอัตโนมัติ ช่วยสร้างวินัยทางการเงินและเพิ่มความมั่นคงในอนาคตสำหรับผู้ใช้งาน
3. ทีม EYE ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา คว้ารางวัล “The Best of Track” ในสายการแข่งขัน Data Solution for Banks
ตัวแทนจากทีม EYE เล่าให้ฟังว่า ทีม EYE ได้นำเสนอโซลูชั่นเกี่ยวกับระบบป้องกันและจัดการกับการฉ้อโกงทางการเงิน โดยเน้นทั้งการป้องกัน การตรวจจับ และการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับลูกค้าและสถาบันการเงิน
สำหรับ 3 ทีม ที่คว้ารางวัล “The Best of Track” ได้รับเงินรางวัลทีมละ 10,000 บาท เป็นรางวัลที่ยืนยันความสามารถในการสร้างสรรค์และขับเคลื่อนโครงการในระดับสูงสุดในแต่ละสายการแข่งขัน
นายฉัตรชัย ดุษฎีโหนด กล่าวปิดท้ายว่า โครงการ “Hack to the Max : Digital Infrastructure” ไม่เพียงเฟ้นหาสุดยอดไอเดียเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัล แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ผลักดัน NITMX สู่เป้าหมายในอนาคต ทั้งการสร้างเสถียรภาพระบบ ต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ และเปิดตลาดใหม่ เพื่อนำพาระบบการชำระเงินของไทยก้าวสู่มาตรฐานระดับโลกอย่างมั่นคงและยั่งยืน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.