วันนี้! เปิดยื่นขอไลเซนส์ Virtual Bank วันสุดท้าย-ผ่าจุดแข็งผู้ร่วมชิงเค้ก
วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันสุดท้ายในการยื่นคำขออนุญาตจัดตั้ง “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” หรือ Virtual Bank หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank รวมเป็นระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.2567
เป็นไปตาม ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2567
ทั้งนี้ เพื่อเปิดให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย เข้ามาให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ใช้บริการรายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอหรือตรงความต้องการ สร้างประสบการณ์ในการใช้บริการทางการเงินที่ดีขึ้นแก่ผู้ใช้บริการ
รวมทั้งช่วยกระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินไทยอย่างเหมาะสม โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน หรือเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของผู้ฝากเงินหรือผู้ใช้บริการในวงกว้าง
สำหรับขั้นตอนหลังจากปิดรับสมัครให้ยื่นขอคำอนุญาตฯ ธปท. จะพิจารณาเอกสารและข้อมูลเพื่อคัดเลือกผู้ที่สมควรได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank จากนั้นกระทรวงการคลัง พิจารณารายชื่อตามที่ ธปท. เสนอ และคาดว่าจะประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ภายในเดือน มิ.ย.2568 หากมีเหตุอันควร อาจขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 3 เดือน หรือไม่เกินเดือน ก.ย.2568
ผู้ขออนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank จะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ อาทิ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ก่อนยื่นขอรับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ Virtual Bank จากกระทรวงการคลัง และเปิดดำเนินธุรกิจได้ภายใน 1 ปี หรือภายในเดือน มิ.ย.2569 หากมีเหตุอันควร อาจขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 1 ปี หรือไม่เกินเดือน มิ.ย.2570
การเปิดให้ยื่นคำขออนุญาตฯ ในครั้งนี้ มีกลุ่มทุนใหญ่สนใจลงสนามชิง Virtual Bank หลายกลุ่ม
เริ่มจาก กลุ่มธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ร่วมกับอีก 2 พันธมิตร ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ที่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ส่งเข้ามาเป็นแกนในการร่วมพันธมิตร และ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR
ล่าสุด “ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ KTB ระบุว่า กลุ่มธนาคารกรุงไทยได้ยื่นขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank กับ ธปท. เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา
จุดที่น่าสนใจ คือ KTB เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ให้บริการแอปพลิเคชันเป๋าตังและถุงเงิน ที่มีจำนวนผู้ใช้รวม 59 ล้านคน ส่วน ADVANC มีจำนวนผู้ใช้งานโทรมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้าน ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 รวม 50.6 ล้านราย ขณะที่ OR เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันรายใหญ่ที่สุด มีสมาชิกบลูการ์ด (Blue) 7.9 ล้านคน
กลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ที่ส่ง บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI เข้าร่วมพันธมิตร ผนึกกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, ซีกรุ๊ป (Sea Group) จากสิงคโปร์
โดยล่าสุด “ชาติศิริ โสภณพนิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ BBL ระบุว่า อยู่ระหว่างพิจารณา หลังถูกถามว่า BBL จะร่วมมือกับกลุ่ม BTS ที่ส่งบริษัทลูกอย่าง VGI ยื่นขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank หรือไม่ และคาดว่าจะมีความชัดเจนในวันนี้ (19 ก.ย.) ซึ่งจะถึงกำหนดในการปิดยื่นคำขออนุญาตฯ จาก ธปท.
จุดแข็งของกลุ่มนี้ VGI นำประสบการณ์ในการให้บริการบัตรแรบบิท (Rabbit Card) เติมเงินบัตรโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ด้าน BBL เป็นธนาคารพาณิชย์อันดับ 1 ของไทย ส่วน Sea Group เป็นเจ้าของอาณาจักรเกมดัง เช่น Free Fire, League of Legends, ROV และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ “ช้อปปี้” (Shopee)
นอกจากนี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ยังเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มนี้ด้วย โดยแหล่งข่าวจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หน่วยงานในสังกัด จะร่วมมือกับ BBL และ VGI ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BTS เข้าร่วมทำธุรกิจ Virtual Bank และที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว เมื่อเดือน ส.ค.2567
ก่อนหน้านี้ “ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ระบุว่า ไปรษณีย์ไทยมีความสนใจที่จะเข้าร่วมทำธุรกิจ Virtual Bank เพื่อคว้าโอกาสและขยายระบบนิเวศทางธุรกิจของไปรษณีย์ไทย โดยใช้เครือข่ายสาขากว่า 1,600 แห่งทั่วประเทศ และพนักงานส่งไปรษณีย์ 25,000 คน ที่มีความคุ้นเคยกับชุมชน
ทั้งนี้ เพื่อให้บริการสินเชื่อกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหลัก คือ แรงงานข้ามชาติ และคนไทยที่ไม่มีสลิปเงินเดือนจากนายจ้าง ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่น่าสนใจ ช่วยให้ประชาชน สามารถทำธุรกรรมฝากถอนเงินได้ที่สาขาของไปรษณีย์ทั่วประเทศ จากนั้นจะทยอยเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการเพิ่มเติม เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่ขาดการเข้าถึงบริการของธนาคารอย่างทั่วถึงในปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน ยังมีอีก 3 กลุ่มทุน ที่ให้ความสนใจยื่นคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ในช่วงก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย
กลุ่มบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB จับมือกับพันธมิตร 2 ราย ได้แก่ คาเคาแบงก์ (KakaoBank) จากเกาหลีใต้ และ วีแบงก์ (WeBank) จากจีน
ข้อได้เปรียบ KakaoBank เป็นดิจิทัลแบงก์ใหญ่ที่สุดในเกาหลี มีจำนวนผู้ใช้งาน 22.8 ล้านคน และมาร์เก็ตแคป 2.43 แสนล้านบาท ขณะที่ WeBank เป็นฟินเทค ภายใต้ เทนเซ็นต์ กรุ๊ป (Tencent Group) ของจีน โดย WeBank มีจำนวนผู้ใช้งาน 365 ล้านคน มาร์เก็ตแคป 7.48 แสนล้านบาท ส่วน SCB เป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทย ที่มีการลงทุนด้านดิจิทัลอย่างมาก และมีฐานผู้ใช้งานโมบายล์แบงก์กิ้ง 16 ล้านคน
สุดท้าย กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ส่ง แอสเซนด์ มันนี่” ผู้ให้บริการอีวอลเล็ต ภายใต้ชื่อ “ทรูมันนี่” ร่วมเป็นพันธมิตรกับ แอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) ซึ่งเป็นผู้นำในฟินเทค และเป็นบริษัทลูกของอาลีบาบา (Albaba) จากจีน
จุดเด่น ทรูมันนี่ มีฐานผู้ใช้ 27 ล้านคนทั่วประเทศ มีการใช้จ่ายผ่านสาขาเซเว่นอีเลฟเว่นกว่า 14,500 สาขา และ โลตัส ซูเปอร์มาร์เก็ต กว่า 2,400 สาขา ขณะที่ Ant Group สามารถนำนวัตกรรมในดิจิทัลแบงก์มาปรับใช้กับธุรกิจ Virtual Bank
คงต้องรอดูว่ากลุ่มทุนไหนจะเป็นตัวจริงที่ยื่นชิง Virtual Bank พร้อมกับโฉมหน้าของ 3 ผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะเป็นใครกันบ้าง?
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.