เฟดหั่นดอกเบี้ย 0.50% หนุนเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทย กดดัน กนง. ลด 0.25% ต.ค.นี้

ตามที่ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% ในการประชุมเดือน ก.ย.2567 สู่ระดับ 4.75-5.00% ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกในปีนี้ และเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2563 หลังจากคงดอกเบี้ยติดต่อกัน 8 ครั้ง นับตั้งแต่เดือน ก.ย.2566

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ Dot Plot ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในปีนี้ โดยคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 4.4% ในปี 2567 จาก 5.1% เมื่อเดือน มิ.ย.2567 และลดอัตราดอกเบี้ยรวม 1.00% ในปี 2568 โดยคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 3.4% ในปี 2568 จาก 4.1% เมื่อเดือน มิ.ย.2567 ส่วนในปี 2569 ลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% โดยคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 2.9% ในปี 2569 จาก 3.1% เมื่อเดือน มิ.ย.2567 

ขณะที่ปรับลดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2567 เติบโต 2.0% จาก 2.1% เมื่อเดือน มิ.ย.2567 ปี 2568 คงเป้าหมาย GDP เติบโต 2.0% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อเดือน มิ.ย.2567 ปี 2569 เติบโต 2.0% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อเดือน มิ.ย..2567 ปี 2570 เติบโต 2.0% และระยะยาวเติบโต 1.8% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อเดือน มิ.ย.2567

นอกจากนี้ เฟดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2567, 2568, 2569 และ 2570 อยู่ที่ระดับ 2.6%, 2.2%, 2.0% และ 2.0% ตามลำดับ หลังจากคาดการณ์ในเดือน มิ.ย. ว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.8%, 2.3% และ 2.0% ในปี 2567, 2568 และ 2569 ตามลำดับ

นายวทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย เปิดเผยว่า จากการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด 0.50% ในครั้งนี้ ผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยระมัดระวังกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จากโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสจะปรับลดดอกเบี้ยลงในช่วงหลังจากนี้ จำนวน 1 ครั้ง ช่วงเดือน ต.ค.2567 ในอัตรา 0.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.50% ต่อปี ด้วยเงินเฟ้อที่ไม่สูง ประกอบกับเฟดเริ่มปรับลดดอกเบี้ย 

ส่วนกลุ่มที่ได้ประโยชน์มองไปยัง กลุ่มโรงไฟฟ้า, อสังหาริมทรัพย์, REIT และหุ้นที่หนี้สินสูง (CPALL, MINT) รวมไปถึงกลุ่มที่ต้นทุนเป็นดอกเบี้ย (MTC, SAWAD, TIDLOR) 

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า เฟดปรับลดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ขณะที่ในช่วงเวลาที่เหลือของปี คาดว่าจะปรับลดลงอีกไม่น้อยกว่า 0.5% ส่วนปี 2568 คาดว่าจะปรับลดลงอีก 1% ภาพดังกล่าวสะท้อนให้เห็น วัฎจักรดอกเบี้ยขาลงชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างแรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยไทย ปรับลดลงเช่นกัน โดยเห็นว่ามีโอกาสที่จะเห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง ในเดือน ต.ค.2567 

ขณะเดียวกัน การลดดอกเบี้ยของเฟดดังกล่าว กดดันให้ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง รวมถึงมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวสหรัฐชะลอตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ FUND FLOW มีโอกาสย้ายจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ กระจายไปลงทุนตลาดหุ้นอื่นๆ รวมถึงตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติม

ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินว่า เป้าหมายการลงทุนต่างชาติมีโอกาสเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติม จากปัจจัยในเชิงเปรียบเทียบหลายๆ มิติ ดังนี้

MOMENTUM โดย FUND FLOW มีโอกาสไหลเข้าหุ้นไทย จากการลดเบี้ยสหรัฐที่จะเร่งลดเร็วกว่าไทยในช่วง 1-2 ปีต่อจากนี้ จะกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า แต่ค่าเงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในหุ้นไทยมีโอกาสได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม

FUNDAMENTAL โดย GDP GROWTH ไทยช่วงครึ่งหลังปี 2567 มีโอกาสเติบโตเด่น 4.1% จึงจะเท่ากับที่กระทรวงการคลังประเมินทั้งปี 2567 เติบโต 3% และเป็นการเติบโตจากฐานที่ต่ำช่วงครึ่งแรกปี 2567 ที่ 1.9% อีกทั้งยังสูงกว่าสหรัฐที่ BLOOMBERG คาด GDP GROWTH ครึ่งหลังปี 2567 ลดลงเหลือ 2.1% และในมุมกำไรบริษัทจดทะเบียน EPS GROWTH ไทย ปี 2567 คาดจะเติบโตได้สูง 13% สูงกว่า EPS GROWTH สหรัฐ ปี 2567 ที่ 8%

VALUATION ล่าสุดตลาดหุ้นไทยมี P/E ปี 2567 ที่ 15.7เท่า, P/E ปี 2568 ที่ 14.5 เท่า ต่ำกว่าตลาดหุ้นสหรัฐ (S&P500) ที่มี P/E ปี 2567 ที่ 23.2 เท่า และ P/E ปี 2568 ที่ 20.3 เท่า รวมถึง P/BV ปี 2567 ไทย ต่ำเพียง 1.4 เท่า และต่ำกว่าตลาดหุ้นสหรัฐ (S&P500) ที่มี P/BV ปี 2567 ที่ 4.7 เท่า

ทีมกลยุทธ์ บล.กรุงศรี ออกรายงาน “Fed “Proactive” ต่อนโยบายการเงินเพื่อประคองเศรษฐกิจ ดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง” โดยมองบวกต่อท่าทีของเฟดในการประชุมรอบล่าสุด และเชื่อว่าความพร้อมในการปรับนโยบายการเงินในรูปแบบ Proactive และ ยืดหยุ่น จะช่วยประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นภาพ Soft Landing ได้ ซึ่งจะบวกต่อการลงทุน Global Bonds และสินทรัพย์เสี่ยงโลกในกลุ่มยัง Laggard อาเซียน รวมถึงไทย

สำหรับกลยุทธ์ ประเมินจุดเปลี่ยนของอัตราดอกเบี้ยที่กลับเป็นขาลงแล้ว นำโดยสหรัฐ ผสานประเทศแถบอาเซียน (ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) ที่ทยอยปรับลดดอกเบี้ยลงเช่นกัน โดยธีมการลงทุน ได้แก่ หุ้นกลุ่มดอกเบี้ยขาลงหนุน ประกอบด้วย โรงไฟฟ้ (GULF, GPSC) ชิ้นส่วนฯ (DELTA) เช่าซื้อ (MTC, JMT, KTC) หนี้สูง (MINT, TRUE) High Yield (ADVANC, HMPRO) ค้าปลีก (CPALL, BJC) ท่องเที่ยว (AOT, BA, AAV, ERW)

นอกจากนี้ กลุ่มธนาคารที่ถูกขายลดความเสี่ยงการปรับลดดอกเบี้ยออกมาก่อน มีโอกาสเห็น Buy on Facts แม้ว่าวงจรดอกเบี้ยเข้าสู่ขาลงจะกระทบ NIM แต่จะถูกชดเชยด้วยการเติบโตของสินเชื่อและค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น การบริหารเงินทุน และความเสี่ยงด้านเครดิตที่ต่ำลง ผสาน ROE สูงเฉลี่ย 9% และ Valuation Discount หนุนคาดเห็นแรงซื้อกลับ เน้น KBANK, KTB, BBL

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.