สภาพัฒน์ เผย ตัดหนี้ครัวเรือน ต้องทำเฉพาะกลุ่ม หวั่นเกิดปัญหาวินัยการเงิน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ข้อเสนอตามวิสัยทัศน์ของ นายทักษิณ ชินวัตร ให้ปรับลดการเก็บเงินสมทบกองทุนเพื่อฟื้นฟูสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ปัจจุบันเก็บอยู่ 0.46-0.47% ลงครึ่งหนึ่งแล้วนำเงินที่เหลือไปช่วยลดหนี้ครัวเรือนให้กับประชาชนนั้น เป็นเรื่องที่ต้องมีการหารือกันระหว่างกระทรวงการคลัง กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า มาตรการจะมีผลอย่างไรบ้าง เมื่อออกมา โดยในส่วนนี้ก็ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหานี้
สำหรับหนี้ของกองทุน FIDF นั้น ปัจจุบันมีการนำเงินที่เก็บจากสถาบันการเงินในส่วนนี้ไปใช้หนี้เงินต้นที่มีอยู่ ซึ่งหากลดเงินนำส่งลงไปก็จะทำให้การใช้เงินต้นในส่วนนี้ลดลง ทั้งนี้หากจะใช้มาตรการนี้จริง สศช.มองว่าควรทำเป็นมาตรการเฉพาะกลุ่มแบบเจาะจง เช่น เป็นมาตรการที่ช่วยลูกหนี้ที่มีบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท หรือหนี้รถที่ถือเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน เป็นต้น โดยมาตรการในลักษณะนี้ไม่ควรเป็นการใช้แบบทั่วไป เพราะจะเกิดประเด็น “อันตรายบนศีลธรรม” (Moral Hazard) ให้เกิดขึ้นในสังคมได้
ส่วนประเด็นการปรับลดการจ่ายหนี้ขั้นต่ำบัตรเครดิตที่ ธปท.ให้คงการจ่ายหนี้ขั้นต่ำไว้ที่ 8% จากเดิมที่จะปรับขึ้นเป็น 10% ซึ่งในส่วนนี้ สศช.มองว่าแม้ว่าจะไม่ได้มีการปรับขึ้นไปถึงระดับ 10% แต่การที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8% ในขณะนี้ก็ทำให้ประชาชนบางส่วนที่ขาดสภาพคล่อง และได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวไม่สามารถที่จะจ่ายหนี้บัตรเครดิตในสัดส่วนดังกล่าวได้ เนื่องจากกำลังในการจ่ายหนี้ลดลง เห็นจากที่ NPL ของหนี้บัตรเครดิตปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 3.5% ในไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 4.13% ในไตรมาสล่าสุด
นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับหนี้สินครัวเรือนไตรมาสที่ 1/2567 มีมูลค่ารวม 16.37 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.5% ชะลอลงจาก 3% ในไตรมาสก่อนหน้า และคิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 90.8% ลดลงจาก 91.4% ในไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับปัจจัยที่ทำให้หนี้ครัวเรือนปรับลดลงมาจากการที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อแก่ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่อง โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์มีมูลค่ารวม 1.63 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.99% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.88% ในไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน
นอกจากนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้บัตรเครดิตที่เริ่มมีปัญหาการชาระหนี้คืน หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยมีการปรับอัตราการจ่าย บัตรเครดิตขั้นต่ำจาก 5% เป็น 8 % ตั้งแต่รอบบัญชีเดือนมกราคม ปี 2567 ส่งผลให้ลูกหนี้บางส่วน ไม่สามารถปรับตัวและมีปัญหาในการชำระคืน
2.รูปแบบการให้กู้ยืมนอกระบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะ ที่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ประกอบกับเงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่าย อาจนำไปสู่พฤติกรรมการก่อหนี้เกินตัวได้ง่าย อีกทั้งมีความเสี่ยงการมีหนี้สินพ้นตัวจากอัตราดอกเบี้ยนอกระบบที่อยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.