นักวิชาการ หนุนรัฐบาลใหม่ขึ้นภาษีVAT เพิ่มรายได้นำมาดูแลผู้สูงอายุ

การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) จากปัจจุบันอยู่ที่7% เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล มักถูกหยิบมาพูดถึงเกือบทุกๆปี จนกลายเป็นประเด็นทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง แต่สุดท้ายไม่มีรัฐบาลใดที่หาญกล้าปรับขึ้น เพราะเกิดเสียงค้านตามมาอย่างกว้างขวางย่อมส่งผลกระทบต่อความนิยม เพราะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับภาคประชาชน ล่าสุด อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้มีเสนอให้รัฐบาลปรับลดภาษีนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน และพร้อมเสนอให้ปรับขึ้นภาษีVAT เพื่อมาทดแทนรายได้ภาษีที่หายไป   

 

ในด้านความเห็นของนักวิชาการ นดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจาก สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า โดยทั่วๆ ไปบริษัทและพนักงานควรต้องมีการจ่ายภาษี เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ จึงไม่ควรลดภาษีอย่างพร่ำเพรื่อ โดยข้อจำกัดที่สำคัญ คือ อัตราภาษีโดยเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับภูมิภาค ซึ่งไทยไม่ควรจะมีอัตราภาษีที่สูงกว่าประเทศในภูมิภาคมากจนเกินไป 

 

ซึ่งการสร้างความสามารถในการแข่งขัน น่าจะหมายถึงการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน ซึ่งพบว่าเครื่องมือในการจูงใจจะมีทั้งปัจจัยทางด้านการเงิน และปัจจัยที่ไม่ใช่การเงิน โดยงานวิจ้ยในระยะหลังพบว่า ปัจจัยที่ไม่ใช่การเงินจะสำคัญกว่า เช่น การมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพร้อม การมีแรงงานที่เพียงพอ โดยแรงงานจะต้องมีทักษะที่จำเป็น การสนับสนุนด้านการทำวิจัยและพัฒนา เป็นต้น ดังนั้น การลดภาษีจึงไม่ใช่มาตรการที่เหมาะสมในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

 

ส่วนการปรับขึ้นภาษีVAT มองว่าประเทศไทยจัดเก็บอัตราภาษีVAT ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค และในระดับโลก ทำให้รัฐเสียรายได้ที่ควรจะเป็นไปมาก การปรับขึ้นสามารถทำได้เลยเพราะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงการฟื้นตัวแล้ว โดยหากกังวลใจว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นกับคนที่มีรายได้น้อย ก็อาจจะใช้กลไกเช่น Negative Income Tax รวมทั้งการยกเว้นการจัดเก็บ VAT ในสินค้าที่จำเป็นเข้ามาช่วยลดทอนผลกระทบ

“ส่วนตัวมองว่า สามารถขึ้นได้อย่างน้อยที่ 10% ได้ทันที และอาจพิจารณาศึกษาเพิ่มเติมความเหมาะสมในการจัดเก็บที่ 15-20% อีกด้วย เพราะไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมสูงวัยที่ต้องการงบประมาณในการดูแลมากขึ้น ซึ่งประเมินว่า เศรษฐกิจในภาพรวมฟื้นตัวแล้ว ถ้ากังวลใจเรื่องจะส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้น รัฐบาสามารถกำหนดให้สินค้าจำเป็นไม่ต้องเสีย VAT ” ดร.นณริฏ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง มองว่า บริบทของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังไม่เอื้อให้มีการปรับขึ้นภาษีVAT เพราะประชาชนยังเดือนร้อนจำนวนมาก เห็นได้จากการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาควบคุม หรือปรับลดราคาสินค้า และพลังงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขึ้นภาษีVAT จะส่งผลกระทบไปทั่ว ทั้งคนจนและรวย 

 

ทั้งนี้ เชื่อว่า การเสนอปรับขึ้นภาษีVAT เป็นเพียงการโยนหินถามทาง เพราะไทยได้มีการยกเว้นการขึ้นภาษีVAT มาหลายปีแล้ว จะเห็นว่าไม่มีรัฐบาลใดกล้าปรับขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าอัตราภาษีVAT ของไทยอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับหลายประเทศเพื่อบ้าน และดูจากสถานการณ์ด้านการคลังแล้วในอนาคตอย่างไร ต้องมีการปรับขึ้นภาษี VAT หรือภาษีอื่นๆเนื่องจากงบประมาณของไทยตอนนี้อยู่ในระดับที่ต่ำติดพื้น ขณะที่สังคมไทยก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อรัฐสวัสดิการจำนวนมากรองรับดูแล



 “หลักการแล้วไทยควรปรับขึ้นภาษีVAT ได้แล้ว แต่ดูบริบททางเศรษฐกินยังไม่แน่ใจ เพราะการขึ้นทำให้ประชาชนเดือดร้อน คนจนก็เยอะมาก จะเห็นว่าตอนนี้ประชาชนก็เรียกร้องให้รัฐบาลเข้าปรับลดราคาข้าวของ น้ำมัน หากทำได้ แล้วประชาชนโอเคเลย ก็โอเคเลย เพราะสุดท้ายยังไงก็ต้องปรับขึ้นแน่นอน อาจไปขึ้นตรงนี้แล้วไปลดส่วนอื่น แต่ตอนนี้มองว่าบริทบทเศรษฐกิจในขณะนี้และอีก 1-2 ปีนี้ก็ยังไม่เอื้อ ซึ่งในระยะกลางและระยาวอาจปรับขึ้นไปได้ถึง 9-10%ได้เลย” รศ.ดร.สมชาย กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม แม้มีข้อเสนอว่า รัฐจะคืนภาษีให้ทันทีสำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนให้กับคนใหม่ที่เข้าสู่ระบบภาษี แต่ต้องแลกด้วยราคาสินค้าที่แพงขึ้น เทียบกับภาษีที่จะได้คืน ซึ่งไม่รู้จะได้คืนมาจำนวนเท่าไร สุดท้ายจะทำให้คนรู้สึกพึงพอใจมากขนาดไหน 

“วิธีนี้มันมีความเสี่ยง ทำให้คนเดือดร้อนจากข้าวของแพง แลกกับตรงนี้จะเป็นการตอบสนองที่เท่ากับหรือไม่ คิดว่าในทางปฎิบัติไม่ใช่ของง่าย เชื่อน่าจะเป็นการโยนหินถามทางมากกว่า เพื่อลองหยั่งเสียงดู” รศ.ดร.สมชาย กล่าว

สำหรับปัจจัย หรือความพร้อมของไทยที่จะปรับขึ้นภาษีVAT นั้น ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ดี เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวได้ระดับหนึ่งก็สามารถกระจายรายได้เพียงพอ รวมถึงระดับของเงินเฟ้อด้วย ตอนนั้นถึงเหมาะสมที่จะปรับขึ้น จึงสามารถนำมาเป็นเงื่อนไขดึงคนเข้าสู่ระบบภาษีได้ แต่ตอนนี้เศรษฐกิจในครึ่งปีแรกปี 2567 ขยายตัวได้เพียง 1.9% แม้จะคาดว่าครึ่งปีจะขยายตัวได้มากขึ้น หรือประมาณ 2% ต่อปีก็ตาม แต่ถือว่าจีดีพีของไทยยังโตต่ำสุดในอาเซียน ยกเว้นบรูไน

 

ทั้งนี้ สำหรับอัตราVAT ของไทยที่ควรเป็น อยู่ที่ 10% มาตั้งแต่ปี แต่เมื่อปี 2540 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษี VAT ซึ่งจะพิจารณาต่อในทุกๆ 2 ปี เหลือที่ 7% เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในช่วงที่ประเทศเจอวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ส่งผลให้อัตราภาษีVATของไทยถูกตรึงอยู่ที่ 7% มานาน 27 ปีแล้ว
 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.