ผ่าเกมหุ้น "SCB" ครึ่งปีหลังรอด-ร่วง ? หลังสารพัดข่าวร้ายรุมเร้า

     ถือเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันทีหลังจากที่มีการเปิดเผยรายงานของผู้รายงานพิเศษ(Special Rapporteur)ของสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ระบุว่า มีธนาคารในประเทศไทยเป็นผู้ให้บริการทางการเงินหลักให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา!!

     วันนี้ "สมาคมธนาคารไทย" รีบออกมายืนยันว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักเกณฑ์การดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อลูกค้า สังคม และประชาคมโลกและตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยยึดถือและปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบขององค์กรกำกับดูแล คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ซึ่งมีการกำกับดูแลและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด สร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบการเงินของประเทศไทย

    ที่สำคัญ "ธนาคารพาณิชย์ของไทย" มีนโยบายชัดเจน "ไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธและสรรพาวุธกับองค์กรทางทหารของเมียนมา รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกัน และห้ามนำธุรกรรมทางเงินของภาคธนาคารไปใช้ในการจัดซื้ออาวุธที่นำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน"

     ถามว่า ทำไมถึงปรากฎชื่อ "ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)" ??

     อาจเนื่องด้วย SCB เปิดสาขาและให้บริการธุรกรรมระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนธุรกิจของลูกค้าไทยที่ต้องการชำระค่าสินค้าอุปโภคบริโภค และบริการไปยังประเทศเมียนมา

     ซึ่ง SCB เร่งชี้แจงข่าวผ่านเว็บไซต์ว่า "ธนาคารได้ตรวจสอบภายในแล้วพบว่าเป็นจำนวนธุรกรรมของลูกค้าองค์กรเพื่อการชำระค่าอุปโภคบริโภคและพลังงานซึ่งเป็นปกติธุระของธุรกิจ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการค้าอาวุธตามที่ปรากฏเป็นข่าว และเป็นมูลค่าธุรกรรมปกติ ซึ่งมิได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

     ทั้งนี้ ธนาคารมีการทำ Due Diligence ตรวจสอบความถูกต้อง และรายงานการทำธุรกรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนการทำธุรกรรมทุกรายการ"

     อย่างไรก็ดี หลังตกเป็นข่าววานนี้(27 มิถุนายน 2567) ราคาหุ้น SCB ปรับตัวลดลง 2 บาท จากราคาเปิด 106 บาท ลดลงไปต่ำสุดที่ 103 บาทและกลับมาปิดที่ 104 บาท ส่วนวันนี้(28 มิถุนายน 2567) ราคาเปิดการซื้อขายที่ 104 บาท และปรับลดลงแตะระดับ 103 บาท

ปล่อยกู้ไม่กระทบ แต่ปิดโรบินฮู้ดฉุดครึ่งหลัง

     ฝ่ายวิเคราะห์ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า วานนี้มีข่าวเกี่ยวกับธนาคารไทยปล่อยกู้พม่าซื้ออาวุธ ล่าสุด SCB ออกมาชี้แจงว่า ปัจจุบันธนาคารให้บริการธุรกรรมระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนลูกค้าไทยที่ต้องการชำระค่าสินค้าและบริการไปยังประเทศเมียนมา และจากการตรวจสอบภายในพบว่าจำนวนธุรกรรมของลูกค้าองค์กรยังเป็นปกติไม่ได้เกี่ยวกับการค้าอาวุธตามที่ตกเป็นข่าวแต่อยางใด และยืนยันแนวทางดำเนินตามกฎหมายป้องกันการฟอกเงินอย่างเคร่งครัดและเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ด้วยความโปร่งใส

     ขณะที่ประเด็น SCB ยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ของ “บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (PPV)” ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มที่บริษัทถือหุ้น 100% โดยจะทำการยุติการให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.67 เป็นต้นไปนั้น จากการสอบถามเพิ่มเติมทางฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของ SCB ทราบว่าเงินลงทุนเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 ราว 8 พันกว่าล้านบาท โดยที่ผ่านมา 4 ปี ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ขาดทุนมาตลอด ปี 63 ขาดทุน 87.8 ล้านบาท ปี 64 ขาดทุน 1,335.4 ล้านบาท ปี 65 ขาดทุน 1,986.8 ล้านบาท ปี 66 ขาดทุน 2,155.7 ล้านบาท รวม 4 ปีที่ผ่านมา ขาดทุนสะสมกว่า 5,565.8 ล้านบาท ซึ่งรับรู้ขาดทุนเข้าไปทุกปี  ทำให้คาดว่าจะเหลือเงินลงทุนราว 2.5-3 พันล้านบาท ซึ่งอาจจะต้องบันทึกด้อยค่าในปีนี้ หากปิดกิจการโดยไม่ทำอะไรเลย

     โดยทาง SCB ยังศึกษาดูก่อนว่าจะทำอะไรต่อกับบริษัทนี้หรือไม่ ซึ่งอาจทำให้บันทึกค่าใช้จ่ายด้อยค่าเงินลงทุนลดลง และการบันทึกค่าใช้จ่าย one off จะลงทั้งหมดใน 3Q67 หรือบางส่วนลงใน 4Q67 คงจะได้คำตอบชัดเจนหลังการประชุม analyst meeting หลังผลประกอบการ 2Q67 ออก ราวปลายเดือนก.ค.นี้ 

     ล่าสุด SCB ออกมาปฏิเสธข่าวปล่อยกู้ดังกล่าวข้างต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนประเด็นการปิดแอป Robinhood อาจเป็นลบเล็กน้อยในระยะสั้นในปีนี้ แต่ในระยะยาวจะดีขึ้น 

     อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิเคราะห์มองว่า 1H67 ขาดทุนจาก Robinhood ยังเข้าเป็นปกติ ซึ่งที่ผ่านมาก็รับรู้ในงบการเงินมาตลอด ไม่น่าจะกระทบอะไร สำหรับ 2H67 ซึ่งหากยังดำเนินการปกติอาจมีขาดทุนเข้ามาอีกราว 1 พันล้านบาท แต่การประกาศปิดแอปดังกล่าวจะทำให้ต้องตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ราวครึ่งหนึ่งของยอดเงินลงทุน ณ สิ้นปี 66 ที่ 2.5-3 พันล้านบาท เนื่องจากมีการรับรู้ขาดทุนในงบ 1H67 แล้ว ทำให้คงเหลือเงินลงทุนอีกราว 1.25-1.5 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะ offset กับขาดทุนปกติของ Robinhood อีกครึ่งปีหลัง 

     นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับว่า SCB จะนำบริษัทดังกล่าวไปทำธุรกิจอื่นหรือปิดกิจการไปเลย แต่อย่างไรก็ดี มอง worst case หากไม่ทำธุรกิจต่อไป จะมีค่าใช้จ่าย one off จากการเลิกจ้างพนักงาน บวกการด้อยค่าเงินลงทุน ซึ่งน่าจะ offset กันไปพอดี หรืออาจลบอีกเล็กน้อย จึงคาดไม่น่าจะกระทบต่อ SCB อย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ และน่าจะส่งผลบวกต่อผลประกอบการปี 68 เพราะไม่ต้องบันทึกรับรู้ขาดทุนจากแอปดังกล่าวปีละ 2 พันล้านบาทอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้ SCB มีผลประกอบการที่ดีขึ้นถึง 2 พันล้านบาท หรือราวเกือบ 5% ของกำไรทั้งปีของ SCB ได้เลย ดังนั้น ยังคงแนะนำ ซื้อลงทุน SCB ราคาเป้าหมาย 126 บาท ยังถือเป็นหุ้นธนาคารที่ยังมีผลประกอบการที่โตต่อเนื่อง และมีปันผลสูงสม่ำเสมอราว 8-10%ต่อปี

 

กราฟเทคนิค

     สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส ระบุว่า หุ้น SCB แกว่ง Sideways ช่วงสั้นมีโอกาสหาฐานต่อจากแท่งเทียน Bearish มองแนวรับ 101 บาท แนวต้าน 106 บาท

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.