“ทรีนิตี้-เอเซีย พลัส” มอง 3 ปัจจัยการเมืองในประเทศ กดดันหุ้นไทย มิ.ย. ผันผวน

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์  บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในเดือน มิ.ย.2567 คาด SET Index จะแกว่งตัวผันผวนไปกับพัฒนาการของปัจจัยการเมืองภายในประเทศ ซึ่งในเดือนนี้จะมี 3 เหตุการณ์ที่สำคัญ ได้แก่ 1.การพิจารณายุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญ (อยู่ระหว่างรอคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา) 2.การพิจารณาคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน โดยศาลรัฐธรรมนูญ (อยู่ระหว่างรอคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา) และ 3.การที่สำนักงานอัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร ผิดม.112 และมีการนัดส่งฟ้องศาลในวันที่ 18 มิ.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม หากตัดปัจจัยการเมืองออกไป จะพบว่าปัจจัยพื้นฐานล่าสุดของตลาดหุ้นไทยยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางไหนที่สำคัญ โดยประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดยังคงทรงตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน เมื่อมาประกอบกับมาตรการ Uptick rule ที่คาดว่าจะถูกบังคับใช้ได้ในเดือนนี้ ทำให้ประเมิน Downside ของ SET Index ณ ปัจจุบันเริ่มอยู่ในกรอบจำกัด

ในเชิงกลยุทธ์ แนะนำนักลงทุนที่ได้เพิ่มน้ำหนักหุ้นในกรอบ 1,340-1,350 จุด ในช่วงปลายเดือนก่อนตามที่เราแนะนำ สามารถถือครองหุ้นในส่วนดังกล่าวไว้ได้ ส่วนถ้าหากเกิดความยุ่งเหยิงทางการเมืองในเดือนนี้จนเกิดภาวะ Political discount ประเมินแนวรับสำคัญที่ไม่น่าหลุดในเดือนนี้ได้แก่บริเวณดัชนี 1,300 จุด ซึ่งแนะนำใช้เป็นบริเวณแนวรับถัดไป 

นายณัฐชาต กล่าวว่า ประเมินกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจประจำเดือนนี้ สำหรับพอร์ตที่ต้องการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนที่บริเวณแนวรับดัชนี ได้แก่ 1.กลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะถูกนำเข้าสู่ดัชนี SET50/SET100 และ Valuation อยู่ในระดับน่าสนใจ เลือก BJC 2.กลุ่ม Defensive เช่นโรงพยาบาล เพื่อป้องกันความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยการเมืองในประเทศ อาทิ BDMS, BCH, CHG 3.กลุ่มส่งออกที่ยังคงปรับตัว Laggard ได้แก่ COCOCO, MALEE, PLUS, TU 

ทั้งนี้ มีปัจจัยสำคัญที่น่าติดตามในเดือน มิ.ย.2567 นอกเหนือจากปัจจัยการเมืองในประเทศ ได้แก่ 1.ผลการประชุมกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดทางกลุ่มมีมติขยายเวลาลดกำลังการผลิตลง 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวันไปจนถึงสิ้นปี 2568 และขยายเวลาลดการผลิตโดยสมัครใจอีก 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันไปจนถึงสิ้นไตรมาส 3/2567 และหลังจากนั้นจะให้ทยอยหมดอายุไปภายในหนึ่งปี ซึ่งถือว่า Bearish กว่าที่ตลาดคาดหวังไว้ ทำให้ล่าสุดราคาน้ำมันดิบดิ่งลงอย่างรวดเร็วในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มองเป็น Sentiment เชิงลบต่อกลุ่ม Oil & Gas ของไทยในช่วงต้นเดือนนี้ 

2.การประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 6 มิ.ย.2567 คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ย Deposit facility rate 0.25% สู่ระดับ 3.75% 3.การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ในวันที่ 11-12 มิ.ย. คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย แต่น่าจับตาไปยังประมาณการ Dot plots รอบใหม่ 4.การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในวันที่ 12 มิ.ย.2567 คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายแต่อย่างใด 5.การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันที่ 13-14 มิ.ย.2567 คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย แต่น่าจับตาว่าจะมีการส่งสัญญาณในเชิง Hawkish บ้างหรือไม่ หลังค่าเงินเยนมีความอ่อนแออย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

6.รายงานตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ ประจำเดือน พ.ค.ในวันที่ 12 มิ.ย.2567 ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อไปยังคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ย Fed ในตลาด 7.ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจปะทุขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะระหว่างจีนกับไต้หวัน 8.การประกาศใช้มาตรการ Uptick rule ของทาง ตลท. และ 9.ติดตามรายละเอียดกองทุนลดหย่อนภาษีรูปแบบใหม่ ว่าจะมีการเปิดเผยออกมาภายในเดือนนี้หรือไม่ หากลักษณะเหมือนกับรูปแบบกองทุน LTF เดิม ทั้งในมิติวงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุด และระยะเวลาถือครองที่สั้นลง เมื่อเทียบกับกองทุน SSF และ ThaiESG มองจะเป็น Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยขึ้นมาได้บ้าง

บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า ภาพเศรษฐกิจในช่วงเดือน มิ.ย. เข้าสู่จุดเปลี่ยนจากปัจจัยในเรื่องทิศทางดอกเบี้ยโลกเป็นขาลงที่อาจเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน และความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยยังบดบัง การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียน ประกอบกับรอมาตรการเสริมประสิทธิภาพตลาดหุ้นไทย รวมถึงความคืบหน้า LTF เข้ามาหนุนสภาพคล่องตลาดฯ 
 
ในเดือน พ.ค.2567 แม้ตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2567 เติบโต 1.5% ดีกว่าคาด และกำไรบริษัทจดทะเบียนงวดไตรมาส 1/2567 ออกมาดีกว่าตลาดคาด 19% โดยมีกำไรอยู่ที่ 2.77 แสนล้านบาท เติบโต 44%QoQ และทรงๆ ตัว YoY หนุน SET Index ค่อยๆ ฟื้น แต่กลับถูกกดดันในช่วงท้ายเดือน พ.ค. จากความไม่แน่นอนทางการเมือง ทั้งประเด็น 40 สว. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายกฯ เศรษฐาแต่งตั้ง คุณพิชิต เป็นรัฐมนตรี รวมถึงประเด็นอัยการสูงสุดสั่งฟ้องคดีที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กรณีกระทำผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 อาจทำให้กระทบเสถียรภาพรัฐบาล บดบังภาพเศรษฐกิจไทยที่ทยอยฟื้นตัว รวมถึงกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ Bottom Out
 
สำหรับปัจจัยภายนอกสำคัญที่ต้องติดตาม คือ การประชุมธนาคารกลางสำคัญๆ ของโลก อาจเริ่มมีสัญญาณไม่ไปในทิศทางเดียวกันในเดือนนี้ โดย FED มีโอกาสเริ่มลดดอกเบี้ยช้าออกไป หลังตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีตามคาด ขณะที่ ECB ส่งสัญญาณ Dovish อ่อนๆ และน่าจะเห็นการนำร่องในการลดดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมายระยะกลางที่ 2% ส่วนการ ปรับลดดอกเบี้ยของไทย คาดยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ หลัง Bond Yield ไทยเร่งตัวขึ้นแรงในช่วงกลางเดือน พ.ค.2567 

ส่วนปัจจัยผลักดันในประเทศ เดือน มิ.ย.2567 คงเป็นการเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 สร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และมาตรการสร้างความเชื่อมั่นของตลาด ที่ทยอยเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงท้ายไตรมาส 2/2567 เป็นต้น ขณะที่ประเด็นการกลับมาของ LTF หากเกิดขึ้นจริง ฝ่ายวิจัยฯ คาดว่าจะกลับมาช่วยเสริมสภาพคล่อง และช่วยผลักดันให้ SET Index ทยอยฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี 2567 ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักหุ้นไทยที่คำแนะนำ Slightly Overweight และวางกรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index เดือน มิ.ย.2567 ไว้ที่ 1,340-1,400 จุด
 
โดยกลยุทธ์ยังคงเน้นทยอยสะสมหุ้นแนวโน้ม กำไรโตต่อในช่วงฤดูกาล TU, SNNP, SJWD และหุ้นที่เป็นเป้าหมายของ Fund flow ในระยะถัดไป คือ GULF, BBL, ADVANC, MTC หมุนเวียนเข้ามาในพอร์ตตามจังหวะที่เหมาะสม

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.