นักธุรกิจชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมประชุม ICAPP Business Council
การประชุมใหญ่ประจำปี ICAPP Business Council ( IBC ) ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ ความมั่นคงทางอาหาร และการส่งเสริมการท่องเที่ยว (Food Security and Tourism Promotion) สมาชิกเข้าร่วมกว่า 100 ท่าน จาก 20 ประเทศ เพื่อขับเคลื่อนส่งเสริม การทำงานระหว่างภาคการเมือง และธุรกิจ โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมคณะกงสุลกิตติมศักดิ์ (ประเทศไทย) หรือ HCAT และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ โดยจัดการประชุมระหว่างวันที่ 27 - 30 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมฮิลตัน แกรนด์ อโศก กรุงเทพฯ
โดยพิธีเปิดการประชุม ICAPP Business Council (IBC) ครั้งที่ 2 ได้รับเกียรติจาก Chung Eui-yong ประธาน ICAPP SC อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ สาธารณรัฐเกาหลี และอดีต National Security Advisor, Hon.Mushahid Hussain Sayed ประธานร่วม ICAPP SC ดร.ชุมพล พรประภา ประธานสมาคมคณะกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ ดร.พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย และสมาชิก ICAPP Business Council ซึ่งเป็นนักธุรกิจชั้นแนวหน้าจากนานาประเทศ อาทิ อาเซอร์ไบจาน บังกลาเทศ กัมพูชา จีน จอร์เจีย อินโดนีเซีย คาซัคสถาน เกาหลีใต้ ลาว เลบานอน เมียนมาร์ เนปาล ปากีสถาน รัสเซีย ศรีลังกา ไทย ตุรกี เวียดนาม และสมาชิกรัฐสภายุโรป (European Parliament)
ดร.ชุมพล พรประภา ประธานสมาคมคณะกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ กล่าวว่า “รู้สึกเป็นเกียรติและเป็นโอกาสอันดีที่สมาคมกงสุลฯ ได้ร่วมสนับสนุนจัดการประชุมสำคัญครั้งนี้ โดยเฉพาะประเด็น ความมั่นคงทางอาหาร และการส่งเสริมการท่องเที่ยว สามารถชูศักยภาพสองอุตสาหกรรมหลักด้านการเกษตร และการท่องเที่ยวของไทย ถือเป็นเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายนักธุรกิจและความร่วมมือระหว่างประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความพร้อมในการรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ให้สามารถขยายฐานการตลาดไปสู่ต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น”
นอกจากเปิดเวทีให้สมาชิกได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้เดินทางไปร่วมงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2024 ณ อิมแพคเมืองทองธานี โดยทางด้าน ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า “งาน THAIFEX-ANUGA ASIA ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นถึงศักยภาพโดดเด่นของประเทศไทยในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะฮาลาลไทยที่กำลังมีบทบาทสำคัญ นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมหลากหลายส่งเสริมให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ทั้งนี้ยังแสดงถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับนานาชาติ เพื่อต้อนรับผู้ประกอบการและนักลงทุนจากทั่วโลก”
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าวในนามทีเส็บ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักว่า “ทีเส็บมีความยินดีที่ได้สนับสนุนการประชุม IBC ครั้งที่ 2 เนื่องจากมีนโยบายและพันธกิจใช้งานประชุมและงานแสดงสินค้าเป็นเวทีขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะส่งผลผลักดันการเติบโตให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย รวมทั้งใช้การประชุมเป็นเวทีส่งเสริมอัตลักษณ์วัฒนธรรมไทย เพื่อมุ่งเป้าภาพใหญ่ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายการจัดงานที่สามารถสร้างมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจและสร้างประสบการณ์เชิงวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า
สำหรับการประชุม ICAPP นับเป็นเวทีสำคัญของประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อส่งเสริมแลกเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาความร่วมมือในระดับพหุภาคี และความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสังคม บนพื้นฐานความเข้าใจร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ความเชื่อใจในระดับสูงยิ่งขึ้น และดำเนินภารกิจร่วมกันในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพและความสามัคคี โดยการประชุม ICAPP เริ่มขึ้นครั้งแรกที่กรุงมะลิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปีพ.ศ.2543 และมีการประชุมครั้งที่สองที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2545 และต่อมาในปี พ.ศ.2566 ICAPP ได้มีการจัดตั้ง ICAPP Business Council เป็นหนึ่งในคณะกรรมการย่อย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาและส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างภาคการเมืองและภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ โดยการประชุม ICAPP Business Council ครั้งที่ 1 ที่ผ่านมา จัดขึ้นที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งครั้งนี้นับเป็นโอกาสในการชูศักยภาพของไทยบนเวทีโลกอีกครั้ง
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.