สภาพัฒน์ฯห่วงเด็กไทยทักษะดิจิทัลต่ำ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า การจ้างงานในไตรมาส 1 ปี 2567 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 0.1%
ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงกว่า 5.7% ในช่วงนอกฤดูการทำเกษตรกรรม ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมยังขยายตัวได้ที่ 2.2% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวต่อเนื่องที่ 10.6% จากการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 9.3 ล้านคน เช่นเดียวกับสาขาการก่อสร้างที่ขยายตัวกว่า 5%
สำหรับค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.5% โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 13,789 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ส่วนค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวม ลดลงเล็กน้อยที่ 0.4% หรืออยู่ที่ 15,052 บาทต่อคนต่อเดือน นอกจากนี้ ผลของการลดลงของเงินเฟ้อยังส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ สถานการณ์การว่างงานทรงตัว อัตราการว่างงานในไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 อยู่ที่ 1.01% โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 4.1 แสนคน ลดลงร้อยละ 3.2 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของกลุ่มผู้ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีประสบการณ์การทำงาน ขณะที่กลุ่มนักศึกษาจบใหม่อายุ 20 – 24 ปี เป็นกลุ่มที่มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นสูงที่สุดและมีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่
1. การขาดทักษะของแรงงานไทยที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
ผลการสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย พบว่า เยาวชนและกลุ่มวัยแรงงานของไทยจำนวนมากมีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ โดยมีสัดส่วนของกลุ่มที่มีทักษะการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์สูงถึง 64.7% และทักษะดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์สูงถึง 74.1 สะท้อนว่า กลุ่มเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน ไม่สามารถทำงานด้านการอ่านและการใช้คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานได้ดี
โดยทักษะด้านดิจิทัลที่อยู่ในระดับต่ำสอดคล้องกับข้อมูลของ We are social ที่พบว่า ทักษะดิจิทัล ของไทยอยู่ในอันดับที่ 39 จาก 63 ประเทศ ทั้งที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันในระดับสูง ทั้งนี้ การขาดทักษะดังกล่าวอาจทำให้ไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาทต่อปี จากผลิตภาพของแรงงานที่ไม่สูงนัก และการใช้นวัตกรรมที่น้อย ตลอดจนการลงทุนจากต่างชาติที่ลดลง
สถานการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นที่น่ากังวล โดยเฉพาะเมื่อนำมาประกอบกับปัญหาเด็กเกิดน้อย ซึ่งจะทำให้จำนวนแรงงานที่มีสมรรถนะสูงในอนาคตลดน้อยลง สะท้อนถึงความจำเป็นที่ไทยจะต้องเร่งพัฒนาทักษะให้แก่ประชากรอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถทดแทนกำลังแรงงานที่จะหายไป และสามารถรองรับการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมูลค่าสูงได้
2. ความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม
โดยกองทุนฯ มีแนวโน้มที่จะต้องจ่ายเงินบ าเหน็จบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุ ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต สวนทางกับแนวโน้มจ านวนแรงงานรุ่นใหม่ที่จะมีบทบาทในการส่งเงินสมทบเข้าสู่กองทุนฯ ที่ลดลง ซึ่งข้อมูลจากผลการศึกษางบประมาณด้านการคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย(สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2566) พบว่าช่องว่างระหว่างรายรับและรายจ่ายของกองทุนประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39 มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก
โดยในปี 2556 สัดส่วนรายจ่ายต่อรายรับอยู่ที่ร้อยละ 34.6 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 73.4 ในปี 2564 ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญมาจากการปรับเพิ่มการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในด้านต่าง ๆ อาทิ การปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร จากเดือนละ 600 บาท เป็น 800 บาท รวมถึงจำนวนผู้ประกันตนเข้าใหม่และเกษียณที่สวนทางกัน โดยในปี 2575 จำนวนผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพอาจมีมากถึง 2.3 ล้านคนจากเดิมที่ในปี 2565 มีจำนวนเพียง 7.6 แสนคนเท่านั้น เป็นความเสี่ยงที่กองทุนฯจะประสบปัญหาด้านสภาพคล่องและความยั่งยืน อันจะส่งผลต่อเนื่องไปยังผลประโยชน์ของผู้ประกันตนในอนาคต
3. การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบค่าจ้างของแรงงานกับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP at current market prices)พบว่าช่องว่างระหว่างค่าจ้างแรงงานและ GDP มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากในช่วงปี 2559 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยแรงงานส่วนใหญ่มีระดับทักษะที่ไม่สูงนักและจำนวนมากทำงานในสาขาที่มีผลิตภาพแรงงานไม่มาก อีกทั้ง กว่าครึ่งยังเป็นแรงงานนอกระบบ ส่งผลให้ได้รับค่าจ้างน้อยและไม่แน่นอน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.