"นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์" ขอ 4 ปีลุย "RATCH" สร้างรายได้ทุกมิติ
รู้จัก "นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์" กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ ของ บริษัท ราช กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) หรือ RATCH ซึ่ง "นิทัศน์" ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็นกรรมการบริษัทฯอยู่แล้ว และทางคณะกรรมการ(บอร์ด)เลือกขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน "นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล" ที่เกษียณอายุ โดยมีผลตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา
ในแวดวงพลังงานค่อนข้างรู้จัก "นิทัศน์" อดีตรองผู้ว่าการเชื้อเพลิง และ 1 ใน 4 ผู้สมัคร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อพ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ก่อนที่ กฟผ.จะแต่งตั้ง "เทพรัตน์ เทพพิทักษ์" อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า(EGCO) ดำรงตำแหน่ง "ผู้ว่า กฟผ." ไม่แน่ว่าด้วยสายสัมพันธ์อันดีของผู้บริหาร RATCH กับ กฟผ. อาจสร้างโอกาสอันดีร่วมกันในอนาคตก็เป็นได้
"ผมเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH เพียง 1 เดือนเท่านั้น หลักการทำงานของผมด้วยความที่ RATCH เป็นบริษัทเกี่ยวกับพลังงานและสาธารณูปโภค ที่มีความเจริญเติบโตดีอยู่แล้ว ซึ่งอะไรที่ "ทำอยู่แล้ว ทำต่อไป และจะทำให้ดีขึ้น" คงเป็นธีมที่องค์กรจะยังคงเดินในลักษณะนี้ต่อไป"
"นิทัศน์" กล่าวว่า โจทย์สำคัญ คือ เราจะเป็นองค์กรที่สร้างมูลค่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เน้นเรื่อง Carbon Neutrality (ความเป็นกลางทางคาร์บอน)ในปี 2050 (พ.ศ.2593) เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เรามี 5 คีย์โฟกัสบนพื้นฐานด้าน ESG ที่จะใช้ในกระบวนการ โดย โจทย์แรก เริ่มจาก "1.ธุรกิจผลิตไฟฟ้า" กำหนดเป้าหมาย พ.ศ.2570 จะมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 30%
ตัวเชื้อเพลิงหลักจะเน้น "ก๊าซธรรมชาติ" เพราะเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยคาร์บอนต่ำและยอมรับได้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงานของแต่ละประเทศที่ถือว่ายังจำเป็น แต่แน่นอนว่าก๊าซธรรมชาติไม่ใช่เป็น Rising Sun จะทรงตัวและเติบโตในเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำ ส่วน "เชื้อเพลิงถ่านหิน" ที่เราได้เข้าไป M&A อาจพิจารณาประเทศที่แผนการใช้ถ่านหินและเน้นโครงการที่ครบอายุก่อนปี 2050 เพื่อให้เป้าหมาย Carbon Neutrality ของ RATCH มันไม่ถูกละเมิดไป
ด้าน "โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน" เน้นแสงอาทิตย์ (Solar) และ พลังงานลม (Wind) อีกตัวหนึ่งที่เราคิดว่าจะเป็นคีย์การลงทุนเกี่ยวกับ Energy Transition ก็คือเรื่องของ "ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่(Battery Energy Storage System (BESS)) เพื่อรักษาความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า
"ปีนี้ 550 เมกะวัตต์ทำได้แน่นอน ค่าเฉลี่ยแต่ละปี 700 เมกะวัตต์ ในไทยและต่างประเทศเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเราก็จะมีการทบทวนแผนเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน"
ขณะที่ "ธุรกิจนอกภาคผลิตไฟฟ้า (Non-power)" ซึ่งผมขอเรียกกลุ่มนี้ว่า "กลุ่มธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐาน" ที่ไม่ใช่การผลิตไฟฟ้า ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐาน เน้นด้านคมนาคมระบบราง ระบบรถ , ระบบโลจิสติกส์
2.กลุ่มบริการสุขภาพ ซึ่ง RATCH ได้เข้าไปแตะธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งปีนี้เราจะมองหาโอกาสใหม่ๆทางด้านธุรกิจดูแลสุขภาพ รวมถึง Wellness และอาจจะเข้าไปสู่การดูแลสุขภาพด้านอื่นๆ
และ 3.กลุ่มเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม เรามองพวกเชื้อเพลิงอนาคต เช่น กรีนไฮโดรเจน, แอมโมเนีย, ไบโอแมส เป็นต้นซึ่งเราจะทำเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์เรื่อง Carbon Neutrality ของทุกประเทศที่มุ่งไปด้านนี้
อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เราจะเริ่มมองเรื่องของการใช้อินโนเวชั่น และ ดิจิทัลเข้ามาในกระบวนการและใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนดำเนินการ ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ RATCH อาจจะมีการใช้ดิจิทัลทวิน หรือ การนำระบบดิจิทัลเรื่องดาต้าเข้ามาใช้บริหารจัดการมากขึ้น
โจทย์ที่ 2 คือ "การลงทุน" ธุรกิจหลักของเราคือการผลิตไฟฟ้า ดังนั้นการลงทุนเรื่องนี้ต้องไปดูแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของแต่ละประเทศ ซึ่งในแต่ละประเทศทุกวันนี้ประกาศเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) เราจึงเดินแผนตามแนวทางนี้ โดยรูปแบบการลงทุน มี 2 รูปแบบคือ ลงทุนในกิจการที่ดำเนินการแล้ว (M&A) และ ลงทุนโครงการใหม่ๆ ทั้ง Greenfield หรือ Brownfield ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย 5 ประเทศ คือ ไทย , ลาว , ออสเตรเลีย , อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์
โดยในปี 2567 นี้เรามีวงเงินการลงทุน อยู่ที่ 15,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนโรงไฟฟ้าและธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับไฟฟ้า ซึ่งโอกาสการลงทุนทั้ง 5 ประเทศล้วนมีเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2050 เริ่มจาก "ประเทศไทย" วางเป้าหมาย Carbon Neutrality ปี 2050 และ Net Zero Emission ปี 2065 ตามแผน PDP จะเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน(Renewable Energy)เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะมีการลงทุนด้านโครงข่ายไฟฟ้าเช่นกัน ซึ่งการลงทุนเหล่านี้อาจจะมีโอกาสให้เอกชนได้เข้าไปลงทุนบ้าง เช่น ลงทุนในเรื่อง Battery Energy Storage System หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวโยงกับการรักษาระบบไฟฟ้า ซึ่ง RATCH มีความพร้อมที่จะดำเนินงาน เป็นต้น
"กลุ่มประเทศที่เราโฟกัสลงทุนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ถือเป็นโอกาสของเราในอนาคต"
การลงทุนในเรื่องของ Non-Power หรือ สาธารณูปโภคต่างๆ เราจะมีการลงทุนเรื่องรถ , โลจิสติกส์ต่างๆ ในปีนี้เราจะมองหาพาร์ทเนอร์ในการทำโลจิสติกส์ และ ขนส่ง ส่วนเรื่องนวัตกรรมด้านพลังงาน ตัวพลังงานในอนาคตหลายประเทศมุ่งเน้น "กรีนไฮโดรเจน" แต่ด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นทุกประเทศพยายามสร้างโครงการเหล่านี้ โดยอาศัยความได้เปรียบของแต่ละประเทศ เช่น ออสเตรเลีย มีพื้นที่ มีแดด หรือในหลายที่ที่มีโครงสร้างราคาค่าไฟที่ค่อนข้างราคาถูกก็จะได้เปรียบเรื่องนี้ ทำให้ "RATCH เห็นโอกาสในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทย เราคิดว่าในปีนี้จะเริ่มศึกษาและมองในเรื่องกรีนไฮโดรเจนมากกว่าเดิม"
อีกเรื่องคือ "Battery Energy Storage System" เชื่อว่าในอนาคตจะทวีความสำคัญในเรื่องการโอนถ่ายไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจ EV การชาร์จ ต่อเนื่องไปถึงเรื่องโลจิสติกส์ต่างๆ มองว่าเป็นโอกาสของเรา และเพื่อให้เป้าหมายสำเร็จเรามองเรื่อง เทคโนโลยีการดัก การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS) จะมีการศึกษาเพิ่มขึ้น
"เรื่อง EV เราคงไม่มองในกลุ่มของเรื่องรถ EV แต่เราถือหุ้นในบริษัทอินโนพาวเวอร์ที่ลงทุนด้านนวัตกรรมและ EV Chager ก็คงปล่อยให้เขาทำไป ส่วน sector อื่นๆที่ยังไม่มีคนเข้าไปทำแล้วสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ เราก็จะเข้าไปพูดคุยกับพาร์ทเนอร์และ Potential Partners ต่อไป"
สำหรับ โครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาและก่อสร้าง ในวันนี้มีกำลังการผลิตที่อยู่ระหว่างพัฒนาและก่อสร้าง 1,809.96 MW เป็นกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียน ประมาณ 1,392.78 MW คิดเป็น 76.95% โดยโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาตั้งแต่ พ.ศ.2567 ถึง พ.ศ. 2576 ในเบื้องต้นมีรายละเอียดดังนี้
1.โครงการโรงผลิตไฟฟ้านวนครส่วนขยาย ปทุมธานี ประเทศไทย กำลังผลิต 12 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องปี 2567
2.โครงการโรงไฟฟ้า REN ระบบโคเจนเนอเรชั่น นครราชสีมา ประเทศไทย กำลังผลิต 12.48 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องปี 2567
3.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Calabanga ประเทศฟิลิปปินส์ กำลังผลิต 35.33 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องปี 2567
4.โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Song Giant 1 ประเทศเวียดนาม กำลังผลิต 5.55 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องปี 2567
5.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ NPSI ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 73.5 เมกะวัตต์ มีกำหนดจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2568
6.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเบนแจที่ประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 59.60 เมกะวัตต์ มีกำหนดเดินเครื่องในปี 2568
7.โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ชุดที่ 2 จังหวัดราชบุรี ประเทศไทย กำลังผลิต 392.70 เมกะวัตต์ กำหนดเกินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2568
8.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมลินคอนแกบ 3 (Lincoln Gap 3) ที่ประเทศออสเตรเลีย กำลังการผลิต 252 เมกะวัตต์ มีกำหนดเดินเครื่องในปี 2569
9.โครงการแบตเตอร์รี่ที่ประเทศออสเตรเลีย กำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ มีกำหนดเดินเครื่องในปี 2569
10.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมใกล้ชายฝั่งซานมิเกลที่ประเทศฟิลิปปินส์ กำลังผลิต 220 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องปี 2571
11.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ซิบันดง ที่ประเทศอินโดนีเซีย กำลังการผลิตติดตั้ง 36.85 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ปี 2572
12.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งลูเซนาที่ประเทศฟิลิปปินส์ กำลังผลิตอยู่ที่ 220 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องปี 2572
13.โครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ริสท์ อ.ทุ่งฝาย จังหวัดลำปาง ประเทศไทย กำลังการผลิต 13.95 เมกะวัตต์ กำหนดการเดินเครื่องปี 2573
14.โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4A&4B ที่ประเทศ สปป.ลาว กำลังผลิต 213 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องปี 2576
โจทย์ที่ 3 "การบริหารสินทรัพย์" เรามีทั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก IPP และ SPP ในไทย , ลาว , อินโดนีเซีย โรงไฟฟ้าพลังงาน ลม น้ำ แสงอาทิตย์ ชีวมวลในออสเตรเลีย , สปป. ลาว , ไทย ซึ่ง RATCH พยายามลดต้นทุน และใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการสูญเสียพลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต "พูดง่ายๆคือ ทำสินทรัพย์ของเราให้สร้างกำไรมากขึ้น"
ขณะที่สินทรัพย์อื่นๆ คือเรามีทั้ง รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู , โรงพยาบาลพริ้นซ์สกลนคร , เงินลงทุนใน BAFS และ EDL-Gen , เหมืองถ่านหินลิกไนต์ ที่จะหมดอายุในปี 2050
โจทย์ที่ 4 "การบริหารการเงิน" วางแผนทางการเงินให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจในระยะยาว จัดหาเงินทุนจากเงินกู้สถาบันการเงิน และตลาดทุน เพื่อบริหารต้นทุนและความเสี่ยงทางการเงิน , บริหารสภาพคล่อง และเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิ
อย่างไรก็ดี เราคงเดินหน้าไม่ได้ถ้าไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ โจทย์ที่ 5 คือ "การบริหารทรัพยากรบุคคล" เพื่อให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เราจะทำ ดังนั้นผมให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับธุรกิจในอนาคต ทั้ง R&D new energy innovations , Strategic planning และ Digitalisation for business รวมถึง ปลูกฝังแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการจัดการ ESG ในกระบวนการทำงาน เพราะเราเชื่อว่าการมีธรรมาภิบาล การเป็นหน่วยงานที่ดีจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับ RATCH
ภาวะเศรษฐกิจไทย ค่าแรง ต้นทุนสูงมีผลกับ RATCH อย่างไร
แน่นอนการลงทุนในเรื่องอินฟราสตรัคเจอร์เป็นประโยชน์กับประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้น RATCH เกิดขึ้นมาเพื่อการนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน ซึ่งแนวทางการลงทุนของเราก็อยู่ในกลุ่มนี้มาโดยตลอด ทุกอันที่ลงทุนประชาชนได้ประโยชน์ ตอบโจทย์แรกว่าลงทุนมีประโยชน์อะไร ช่วยอย่างไร ซึ่งเราก็ยังช่วยต่อไปเรื่อยๆเพราะเราเป็นบริษัทของคนไทย
ส่วนเรื่องค่าแรงหรือต้นทุนต่างๆที่เพิ่มขึ้นนั้น เราพยายามลดต้นทุน ทำได้โดยการใช้เอนเนอจี้ออฟฟิเชียล หรือ เอาดิจิตอลเข้ามา เพื่อให้ประสิทธิภาพเราสูงขึ้นสำหรับกลุ่มธุรกิจผลิตไฟฟ้า ส่วนธุรกิจ Non-power เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เรายังใหม่อยู่ แต่เชื่อว่าด้วยการที่เรามีข้อมูลและการนำดิจิตอลเข้ามาน่าจะทำให้เราสามารถลดต้นทุนเหล่านี้ได้ ซึ่งในไตรมาส 2/67 กำลังฟอร์มทีมอยู่ว่าจะทำเรื่องนี้กันยังไง รูปแบบไหน คาดว่าน่าจะเห็นภาพชัดเจนว่าเราทำอะไรอย่างไรในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ภาครัฐพยายามฟื้นเศรษฐกิจ RATCH จะช่วยอะไรได้บ้าง?
คำถามผมคือกลุ่มเศรษฐกิจที่จะให้กลับมา ทางรัฐบาลมองกลุ่มผู้ลงทุนแบบไหน เพราะเท่าที่ทราบมาก่อนหน้านี้คือต้องการดึงกลุ่มที่ต้องการพลังงานสีเขียว เช่น ผลิตชิปที่มีมูลค่าสูง ในแง่อิฟราสตรัคเจอร์พื้นฐานเราสามารถดำเนินการเหล่านี้ให้ได้ เพราะเราเป็น Power Generation (การผลิตไฟฟ้า) เรามีสินทรัพย์ที่มีอยู่ใน สปป.ลาว เรามี Renewable Energy Certificate (ใบรับรองพลังงานทดแทน) กล่าวคือถ้าวันนี้เราขายไฟฟ้าให้คนอื่น แต่ถ้าไทยต้องการเราขายให้ได้ทันที ตราบใดที่เรามีสัญญาระยะกลาง หรือระยะสั้น ซึ่งเราก็มีความพร้อมที่จะเข้ามาช่วยทันทีที่ต้องการไฟฟ้า
หรือแม้กระทั่งการสร้าง Data Center (ศูนย์ข้อมูล) เราก็พร้อมจะเข้าไปในส่วนของ Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน) เราจะเข้าไปอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน เราเชี่ยวชาญอะไรก็จะทำสิ่งนั้น อย่างที่บอกว่าหากรัฐบาลอยากได้เพิ่มอีกแห่ง เราพร้อมเสนอตัวเพราะมีพื้นที่ราว 3,000 ไร่ อยู่ที่ จังหวัด ราชบุรี แม้ไม่ได้อยู่เขตพื้นที่ EEC และห่างไกล แต่ถามว่าอินฟราสตรัคเจอร์เราสร้างที่ตรงนั้นได้หรือไม่ เพราะความพร้อมมีอยู่ อีกอย่าง Keyword ของ Data Center ก็คือความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเราสามารถจะพัฒนาได้หลายรูปแบบ และเราพร้อมที่จะทำ เพียงแต่ว่าวันนี้เรายังไม่เจอคนที่จะเป็นลูกค้าเรากลับมาจริงๆ แต่ว่าโดยโครงสร้างพื้นฐานทุกอย่างเราพร้อมมาก
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.