EMC จับมือพันธมิตรรับเหมาก่อสร้างจีน เสริมทัพรับงานเมกะโปรเจ็ค
ดร.ชาลี จังวิจิตรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) หรือ EMC เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ โกลเด้น บริดจ์ คอนสตรัคชั่น (Golden Bridge Construction) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ China Road and Bridge Corporation (CRBC) รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ 1 ใน 4 แห่งแรกที่ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งรูปแบบการก่อสร้าง การลงทุน และการร่วมทุนกับรัฐบาล โดยมีสาขากว่า 60 แห่งทั่วโลก ทั้งในเอเชีย แอฟริกา ยุโรป และอเมริกา ซึ่งจะเข้ามาเสริมศักยภาพความแข็งแกร่งและความพร้อมให้กับธุรกิจการก่อสร้างของ EMC ได้เป็นอย่างดี
จากความชํานาญทางด้านงานระบบเครื่องกล ไฟฟ้าและประปา (Mechanical, Electrical, and Plumbing) ของ EMC มาอย่างยาวนาน เมื่อมาผนวกกับความแข็งแกร่งและประสบการณ์ของ CRBC ที่มีความชำนาญด้านงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ อาทิ โครงการสะพาน ท่าเรือ ทางรถไฟ สนามบิน อุโมงค์ ซึ่งเมื่อทั้งสองบริษัทได้มีความร่วมมือกัน จะยกระดับศักยภาพธุรกิจให้มีความพร้อมในการรับงานระดับประเทศได้
“การร่วมมือกันในครั้งนี้ ทำให้ EMC มีโอกาสในการรับงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน, โครงการรถไฟฟ้า, รถไฟทางคู่มอเตอร์เวย์, โครงข่ายคมนาคมขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ รวมถึงงานก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาคเอกชน เช่น กลุ่มอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่ที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง” ดร.ชาลี กล่าว
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของทางภาครัฐที่จะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 มูลค่า 36,000 ล้านบาท โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร(East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่า 9,000 ล้านบาท ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) จากงบลงทุน 2.6 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนา 6 ท่าอากาศยานในประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงงานโครงการขนาดใหญ่ของเอกชน เช่น งานก่อสร้างโรงพยาบาลต่างๆของกลุ่มโรงพยาบาลบางปะกอก, กลุ่มโรงพยาบาลสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และกลุ่มโรงพยาบาล วิภาราม-สินแพทย์ มูลค่างานรวมกว่า 8,700 ล้านบาท
ดร.ชาลี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของ EMC ที่จะมีการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง (EMCX) ในครั้งนี้ จะสามารถสร้างธุรกิจ New S-Curve ได้ อาทิ ธุรกิจเทคโนโลยีและไอที, ธุรกิจยูทิลิตี้ และธุรกิจ Oil & Gas เพื่อสร้างโอกาสและการเติบโตให้กับ EMC ในอนาคตบริษัทจะเตรียมความพร้อมทางด้านการเงิน โดยมีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (Right Offering : RO) ในอัตรา 1 หุ้นสามัญ ต่อ 1 สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยผู้ถือหุ้นที่เพิ่มทุนจะได้รับใบสําคัญแสดงสิทธิ (Warrant) โดยไม่คิดมูลค่าในอัตรา 2 ต่อ 1 ทั้งนี้บริษัทได้เปิดจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม จนถึง 7 มิถุนายน 2567
อย่างไรก็ดี ในปี 67 บริษัทคาดหวังจะสามารถกลับมามีกำไร หลังจากไตรมาส 1/67 มีกำไรสุทธิ 27 ล้านบาท และคาดว่ารายได้รวมมากกว่า 1,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีมูลค่างานในมือ (Backlog) 1,400 ล้านบาท คาดรับรู้ปีนี้ 50% ที่เหลือรับรู้พ.ศ.2568 เป็นโครงการอาคารโรงพยาบาลตากสิน และอาคารเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้แบ่งเป็น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง 85% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 13% และ ให้เช่าพื้นที่ 2%
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.