ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.61 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.61 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.79 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ วันที่ 31 พฤษภาคม)
โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา (รวมถึงช่วงวันจันทร์ที่เป็นวันหยุดของไทย) เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในกรอบ 36.58-36.92 บาทต่อดอลลาร์) ตามทิศทางเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมทองคำ โดยล่าสุด รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ (ISM Manufacturing PMI) เดือนพฤษภาคม ที่ปรับตัวลดลง สู่ระดับ 48.7 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) แย่กว่าที่ตลาดคาดพอสมควร ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง
ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่าเฟดมีโอกาสราว 65% ในการลดดอกเบี้ย “2 ครั้ง” ในปีนี้ (จากเดิมตลาดให้โอกาสราว 40% หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ชะลอลงตามคาดในวันศุกร์ที่ผ่านมา) ซึ่งภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลง ส่วนราคาทองคำก็ปรับตัวขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หนุนให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท
สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง หลังอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด
สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรเตรียมรับมือความผันผวน จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) รวมถึง ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB)
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ทั้ง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการโดย ISM รวมถึงข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ไปจนถึงข้อมูลที่ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสำคัญอย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment) และ อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) โดยจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา พบว่า เงินดอลลาร์อาจผันผวนแข็งค่าขึ้นได้พอสมควร +0.3% หากรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมา “ดีกว่าคาด” (แข็งค่าราว +0.2%
หากข้อมูลอื่นๆ ที่จะรายงานในสัปดาห์นี้ ออกมาดีกว่าคาด) ในทางกลับกัน ยอดการจ้างงานที่ “แย่กว่าคาด” จะกดดันให้เงินดอลลาร์ผันผวนอ่อนค่าลงเกือบ -0.4% และหากใช้การประเมินเชิงเทคนิคัลประกอบด้วย เรามองว่า ควรจับตาการเคลื่อนไหวของดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ที่อาจมีลักษณะคล้ายรูปแบบ Head and Shoulders สำหรับ กราฟ DXY ใน Time Frame รายวัน ซึ่งจะมีแนวรับหลักอยู่ที่ระดับ 104 จุด และการอ่อนค่าหลุดแนวรับดังกล่าวอาจเปิดโอกาสให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อได้ โดยอาจมีเป้าของดัชนี DXY ในช่วง 101.5-102 จุด ขณะที่ หากดัชนี DXY ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 105 จุด ก็อาจสะท้อนว่า เงินดอลลาร์ยังมีโมเมนตัมการแข็งค่าที่ดี และอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ต่อหรือ แข็งค่าขึ้นได้บ้าง โดยมีโอกาสลุ้น ดัชนี DXY ปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 106 จุด (ดัชนี DXY อาจยังอยู่ในกรอบขาขึ้น ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา)
▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยบรรดานักวิเคราะห์และผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย -25bps ในการประชุมครั้งนี้ (เราคาดว่ามีโอกาสที่ ECB อาจคงอัตราดอกเบี้ยได้) ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของประธาน ECB เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า ECB อาจทยอยลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งหาก ECB ส่งสัญญาณชัดเจนว่า พร้อมลดดอกเบี้ยต่อเนื่องและมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ก็อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) ผันผวนอ่อนค่าลงได้ ในทางกลับกัน หาก ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย ก็อาจพอช่วยพยุงเงินยูโรได้บ้าง
▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน จากรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Caixin Manufacturing & Services PMIs) เดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเน้นบริษัทขนาดเล็ก-กลาง มากกว่ารายงานดัชนี PMI โดยทางการจีน ซึ่งได้รายงานในสัปดาห์ก่อนหน้า พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดการส่งออกและนำเข้าของจีน ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Cash Earnings) ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจปรับนโยบายการเงินของทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ โดยหากค่าจ้างมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ BOJ มั่นใจในแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่จะได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของค่าจ้าง และอาจนำไปสู่การทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในปีนี้
▪ ฝั่งไทย – เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนพฤษภาคม อาจอยู่ที่ระดับ 1.50% (+0.56%m/m) หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล ขณะเดียวกัน ราคาเนื้อสัตว์ อย่าง เนื้อหมูก็มีการปรับตัวขึ้นพอสมควร และในช่วงที่เหลือของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1%-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า ธปท. อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% ในปีนี้ ยกเว้นภาพเศรษฐกิจจะชะลอลงกว่าคาด (จับตาการเบิกจ่ายภาครัฐ) และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายชัดเจน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าได้ชะลอลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดได้คลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทว่า เงินบาทเสี่ยงผันผวนสูงไปตามทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงทิศทางราคาทองคำ (ซึ่งจะผันผวนไปตามการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้) นอกจากนี้ ควรจับตาแนวโน้มฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจเริ่มกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยได้อีกครั้ง หากบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) มากขึ้น อนึ่ง ในส่วนแนวรับของเงินบาทนั้นจะอยู่ในโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ (แถวเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน) ซึ่งหากเงินบาทสามารถแข็งค่าทะลุระดับดังกล่าวได้ก็อาจเปิดโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อทดสอบโซน 36.25 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ส่วนแนวต้านสำคัญจะอยู่ในช่วง 37 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป คือ 37.25 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งใกล้จุดอ่อนค่าสุดในปีนี้)
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า ทิศทางเงินดอลลาร์จะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงาน ว่าจะออกมา “ดีกว่าคาด” หรือ “แย่กว่าคาด” นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจผันผวนไปตามเงินยูโร (EUR) ซึ่งจะขึ้นกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดว่า ECB จะลดดอกเบี้ยได้กี่ครั้งในปีนี้
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.25-37.00 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.70 บาท/ดอลลาร์
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.