"ประสาร" ค้านแก้กฎหมายธปท. ลดทอนอิสระธนาคารกลาง

จากกรณีข้อเรียกร้องจากรัฐบาล ที่ต้องการตัดหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อต้องการลดภาระงบประมาณภาครัฐ หรือต้องการลดระดับหนี้สาธารณะลง ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า กรณีมีข้อเสนอให้โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไปอยู่ภายใต้ธปท.โดยหากย้อนดูภาระหนี้ในอดีต เกิดจากกรณีที่กองทุนฯ เข้าไปอุ้มธนาคารกรุงไทยปี 2540 ทำให้วันนี้กองทุนฟื้นฟู ต้องเข้าไปถือหุ้นอยู่ในกรุงไทย ซึ่งเป็นมูลค่าหนี้ราว 3 แสนล้านบาท

 

ดังนั้น หากจะโยกหนี้กองทุนฟื้นฯ ออกไป ต้องขายกลับไปที่กระทรวงการคลัง 3 แสนล้านบาท แต่สุดท้ายก็ยิ่งเพิ่มหนี้ กองทุนฟื้นฟู เหมือนการสวอปหุ้นไปให้กระทรวงการคลัง 3 แสนล้านบาท ไม่มีผลทำให้หนี้สาธารณะลดลง เพราะเป็นการย้ายบัญชีการบริหารหนี้เท่านั้น ดังนั้นต้องไปดูงบดุลธปท. อดีต เมื่อมีเงินทุนไหลเข้า ก็ต้องดูแล

 

ส่วนหนี้กองทุนฟื้นฟู ปัจจุบัน ธปท.ก็บริหารเงินกองทุนฟื้นฟูฯ อยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อโอนเงินชำระหนี้ หนี้กองทุนฟื้นฟูก็จนลดลง ทำให้หนี้สาธารณะทยอยลดลง ปัจจุบันเหลือกว่า 6 แสนล้านบาท จากวงเงินรวม 1.14 ล้านล้านบาท ดังนั้นการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูทั้งหมดมาอยู่ภายใต้ธปท. เป็นสิ่งที่ธปท.ต้องไปดูว่ารับโอนหนี้ได้หรือไม่

 

ทั้งนี้ ในยุคของ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็น ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ได้มีการเรียกร้องให้ตัดหนี้ส่วนนี้ออกจากงบประมาณเช่นเดียวกัน โดยให้โอนภาระหนี้กองทุนที่ 1.14 ล้านล้านบาทไปอยู่ที่แบงก์ชาติ จนนำมาสู่การแก้ปัญหา โดยให้สถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐนำส่งเงินสมทบอัตรา 0.47% เท่ากัน ส่งให้ธปท. เพื่อกลับไปชำระหนี้ให้กองทุนฟื้นฟูฯ 0.46% และ 0.01 % ให้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ครั้งนี้ประเด็นดังกล่าว อาจถูกนำกลับมาทบทวนอีกครั้งในรัฐบาล “นายเศรษฐา ทวีสิน” เพื่อลดภาระหนี้สาธารณะ ควบคู่กับความต้องการลดอิสระการดำเนินงานของธปท.ให้ลดลง

 

ส่วน กรณีที่มีข้อเสนอให้ แก้พ.ร.บ.ธปท. เพื่อลดอำนาจ และความอิสระธปท.ลง มองว่า หากดูพรบ.ธปท. ฉบับปรับปรุงล่าสุด มองว่า มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว หากย้อนดูการแก้ พ.ร.บ.ธปท.ในอดีตวัตถุประสงค์หลัก คือพยายามปรับปรุง และกำหนดดูแลด้านธรรมาภิบาลให้ชัดเจนเข้มแข็งมากขึ้น

 

โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งมีข้อดีหลายประการ อดีตการตัดสินนโยบายการเงิน ตัดสินโดยผู้ว่าฯ ธปท.เพียงผู้เดียว แต่กฎหมายพ.ร.บ. ปัจจุบัน แก้ให้มีคณะบุคคลมาร่วมตัดสินใจนโยบายการเงิน โดยมาจากคนนอก 4 คนและคนธปท. 3 คน ส่วนใหญ่มาจากเสียงคนนอก ดังนั้นในแง่ความสัมพันธ์มีการระบุชัดเจน

หน้าที่การตัดสินใจและการอนุมัติด้านเงินเฟ้อเป็นอำนาจหน้าที่รัฐบาลของกระทรวงการคลัง ที่ทุกปีธปท. จะเสนอเป้าหมายเงินเฟ้อไปให้รมว.คลังอนุมัติ ส่วนธปท.มีหน้าที่รับมาปฏิบัติ และหากไม่สามารถทำได้ตามเป้า ก็ต้องทำหนังสือ หรือจดหมายเปิดผนึก แจ้งกลับไปที่กระทรวงการคลัง และเปิดเผยต่อสาธารณชน รวมถึงการตัดสินนโยบายการเงิน ที่กำหนดชัดเจน ทั้งวันประชุม วันเผยแพร่และเปิดเผยต่อสาธารณชน หรือแถลงข่าว เพื่ออธิบายเหตุผลในการตัดสินใจ

 

ดังนั้น การปรับปรุงพ.ร.บ.ธปท. ฉบับล่าสุด ถือเป็นการปรับปรุงหลายด้าน ที่มีความโปร่งใส และสร้างความสัมพันธ์ที่ชัดเจนจากฝ่ายการเมือง ที่เป็นพ.ร.บ.ที่สามารถใช้งานได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน

 

“พ.ร.บ.ธปท.ฉบับล่าสุด มีการแยกอำนาจชัดเจน เพื่อไม่ต้องการให้ อำนาจในการกำหนดปริมาณเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยไปอยู่ในมือของคนใช้เงิน ก็คือฝ่ายรัฐบาล เพราะฝ่ายใช้เงิน ก็ย่อมมีแรงจูงใจที่อยากให้ราคาเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยต่ำลง เพราะจะเป็นภาระลดลงในการชำระหนี้ หรือระดมทุน ดังนั้นกฎหมายหรือพ.ร.บ.ธปท. ที่วางหลักการเอาไว้ ก็เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับส่วนร่วม ซึ่งพ.ร.บ.ธปท.ฉบับนี้ก็ยังเป็นกฎเกณฑ์ที่สากลที่ทั่วโลกให้อำนาจธนาคารกลางไว้อยู่เหนือการเมือง”ดร.ประสาร กล่าว


ดร.ประสาร ยังกล่าวอีกว่า อีกด้านที่เป็นผลกระทบจากการเรียกร้องให้ลดดอกเบี้ย เพื่ออยากให้ต้นทุนทางการเงินการกู้ของรัฐบาลลดลง ซึ่งตรงนี้จะไปกระทบและไปลดทอนความเชื่อมั่นในตลาดเงิน และส่งผลต่อส่วนร่วมได้ เพราะความต้องการกู้จำนวนมากๆ อาจทำให้ ดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น ประชาชน เอกชน ก็จะได้รับความเดือดร้อนตามมา


กรณีที่มีการเสนอมาหลายยุคหลายสมัย ให้นำทุนสำรองระหว่างประเทศนำไปใช้ อาจสร้างปัญหาตามมาได้ เช่นเดียวกันต่างประเทศที่ประสบวิกฤติขาดทุนสำรอง หากดูทุนสำรองปัจจุบัน ถือว่า มีหลายรูปแบบ การนำสินทรัพย์ หรือทุนสำรองไปใช้ เพื่อรับผลตอบแทนสูงขึ้น บางประเทศก็มีการทำ

 

เช่น จีน หรือบางประเทศในยุโรป ที่มีการใช้สกุลเงินท้องถิ่น มาซื้อทุนสำรอง และตั้งเป็นกองทุนที่คล้ายกับกองทุนมั่งคั่ง หรือ Sovereign Wealth Fund (SWF)ที่เหล่านี้มีต้นทุน เพื่อนำไปลงทุนได้ผลตอบแทนมากขึ้น และกองทุนก็ต้องมีการชี้แจงประชาชน ว่าที่ทำคุ้มหรือไม่

 

“ในอดีต ก็มีกองทุนลักษณะนี้ ที่จีน ที่มีการนำสกุลเงินท้องถิ่นเข้าไปซื้อทุนสำรองมาบริหาร แต่ไม่ใช่เอามาเฉพาะฝั่งสินทรัพย์ แต่ขณะเดียวกันการทำแบบนี้ ก็ลดฝั่งหนี้สินของธนาคารกลางไปด้วย ทำให้ทั้งสองข้างมีความสมดุลกัน ดังนั้นการทำพวกนี้ ต้องคำนึงถึง ความรับผิดชอบ และต้องช่วบลดหนี้สินของธนาคารกลางด้วย”ดร.ประสาร กล่าว

 

ส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย ปัจจุบัน โครงสร้างมีทั้งฝั่งที่เป็นทรัพย์สิน และหนี้สิน ด้านหนี้สิน ธปท.มีหนี้จากพันธบัตรธปท. หรือพันธบัตรรัฐบาล ดังนั้นการตัดเฉพาะ ฝั่งที่เป็นทรัพย์สินไปใช้ โดยไม่ลด ฝั่งหนี้สิน ก็อาจทำให้ทุนสำรองของไทยอ่อนแอ และประสบปัญหาตามมาได้ รวมถึงจะกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อตลาดเงินว่า การดำเนินนโยบายการเงินอาจไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่

 

“การนำทุนสำรองไปใช้ ไม่นิยมทำในธนาคารกลาง เพราะทุนสำรอง ถือเป็นปราการด่านสุดท้ายธนาคารกลาง เมื่อขัดสน ต้องมี เพราะหากไม่มีอาจกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจตามมาธนาคารกลางจึงต้องระวังการบริหารทุนสำรอง แม้การลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนน้อยกว่า แต่ความเสี่ยงต่ำและปลอดภัย”ดร.ประสาร กล่าว

 

“ยามนี้ที่เสียงส่วนใหญ่พิจารณาคงดอกเบี้ย เป็นการพิจารณาอย่างระมัดระวัง เพราะข้างหน้าไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะออกมากู้เงินอีกมากน้อยแค่ไหนในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หากกู้เงินจำนวนมาก อาจกระทบต่อ อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินเพิ่มขึ้นได้ หากให้ลดดอกเบี้ย แล้วต้นทุนการเงินกลับเพิ่ม ตลาดการเงินอาจสับสน และอาจมองว่าประสิทธิผลการดำเนินนโยบายการเงินอาจไม่ดีเท่าที่ควร วันนี้ดอกเบี้ยไทย 2.5% สหรัฐ กว่า 5% ห่างกันค่อนข้างมากและเฟดมองว่าอาจคงดอกเบี้ยต่อไปอีกหลายเดือน ดังนั้นเราต้องให้น้ำหนักเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ยิ่งไปลดดอกเบี้ย เงินทุนจะไม่ไหลเข้า ยิ่งไหลออกการลดดอกเบี้ยก็จะยิ่งซ้ำเติม” ดร.ประสาร กล่าว

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.