เพื่อไทย เขย่าวังบางขุนพรหม หวังลดอำนาจแบงก์ชาติ
“ความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ” คือ คำกล่าวในงานอีเว้นต์ของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นวาทะกรรมที่สร้างความร้อนแรง และแรงกดดันให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย(แบงก์ชาติ) ให้กลับมาอีกครั้ง
ตอกย้ำถึงภาพความไม่ลงรอยในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาล กับแบงก์ชาติให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น หากกล่าวถึง จุดเริ่มต้นของปมความขัดแย้งดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่พรรคเพื่อไทยนำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯรัฐมนตรี ประกาศเดินหน้านโยบายเรือธงหาเสียง "โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet " วงเงินสูง 5 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้เกิดเสียงคัดค้าน ท้วงติงเกิดขึ้นเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง และเสียงค้านดังมากที่สุด คือเสียงจากแบงก์ชาติ ซึ่งมีนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นหัวขบวน
แบงก์ชาติได้ส่งหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี(ครม.) เสนอความคิดเห็น และข้อห่วงใยมีความยาวถึง 5 หน้า ต่อการใช้งบประมาณประเทศจำนวนมากในการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ กลุ่มเป้าหมายในการได้รับสิทธิ ควรจำกัดให้เฉพาะกลุ่มเปราะบาง ความจำเป็นของโครงการ แหล่งที่มาของเงิน ความคุ้มค่า ผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินคลังของประเทศ จากภาระการคลังจำนวนมาก ไปจนถึงความเสี่ยงถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ
ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล และแบงก์ชาติได้ขยายวงกว้างมากขึ้นอีก เมื่อรัฐบาลต้องการให้แบงก์ชาติ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังมองว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยทรงตัวอยู่ในระดับสูง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน และก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ กนง.จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย สวนทางกำไรของธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในกำกับของแบงก์ชาติ กลับมีกำไรอู้ฟู่เป็นประวัติการณ์ แต่แรงกระทุ้งของรัฐบาลก็ไม่เป็นผล หลังกนง.ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% ต่อปี เมินเสียงท้วงติงรัฐบาล สร้างความไม่พอใจนักให้กับนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี เห็นได้จากการระบุกับสื่อว่า
“ตนเองคิดว่าจุดยืนชัดเจนเรื่องอัตราดอกเบี้ย เดี๋ยวจะหาว่าไปกดดัน ผู้ว่าฯธปท. อีก เพราะมีอิสระ แต่ก็ฝากไว้ว่า ความเป็นอิสระของธนาคาร มันไม่ได้อิสระจากความลำบากของประชาชน ขอให้คำนึงถึงความลำบากของประชาชนด้วยวันนี้ไม่ได้กดดันอะไรแล้ว แต่ผลที่ออกมา เชื่อว่าประชาชนจะตัดสินเองว่าควรจะต้องลด หรือไม่ไม่ต้องลด”
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น นั่นก็เพราะเป้าหมายหลักของรัฐบาลกับธนาคารกลางต่างกัน ไม่ใช่เรื่องของการยอมหักแต่ไม่ยอมงอ โดยรัฐบาลมุ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อยากเห็นผลทางเศรษฐกิจโดยเร็ว ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้มีนโยบายปั้นจีดีพีเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี โดยมีนโยบาย Digital Wallet เป็นนโนบายเรือธงขับเคลื่อน ขณะที่หน้าที่หลักของ ธนาคารกลางไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจผันผวนเกินไป เบรกความร้อนแรงจนนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ หรือจนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และเสถียรภาพของระบบการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่
ดังนั้นเป้าหมายที่แตกต่างกันย่อมทำให้เกิดความขัดแย้ง จนทำให้เกิดกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมแก้ไขกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อลดทอนความเป็นอิสระของธนาคารกลาง
สำหรับ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ค.2485 ได้กำหนดวัตถุประสงค์ ขอบเขตการทำงาน และโครงสร้างของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ดำเนินการตามาตรฐานสากลของธนาคารกลาง เพื่อให้ระบบการเงิน ระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงินมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ และมีกระบวนการตัดสินใจด้วยความโปร่งใส รอบคอบ
วัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยให้ทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางของประเทศดูแลเสถียรภาพทางการเงิน เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และเสถียรภาพระบบการชำระเงินของประเทศ นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ
กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย และให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหารือเป็นครั้งคราวร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อประโยชน์ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเงิน หรือ ระบบสถาบันการเงิน โดยกรณีมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรง ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานข้อเท็จจริง ประเมินผลกระทบหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น วิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไขต่อรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีอาจให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานข้อเท็จจริง วิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรง ได้รวมถึงให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานต่อรัฐมนตรีโดยเร็วในกรณีฐานะสุทธิของเงินสำรองระหว่างประเทศของทางการต่ำกว่าระดับที่จำเป็นต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (หมวด 8)
ยังมีการ กำหนดโทษทางอาญาสำหรับบุคคลที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมาย ฉบับนี้กำหนด (มาตรา 62) และสำหรับผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างที่กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายฉบับนี้กำหนด (มาตรา 64 และมาตรา 66 ถึงมาตรา 75) และกำหนดโทษปรับทางพินัยสำหรับบุคคลและสถาบันการเงินที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายฉบับนี้กำหนด (มาตรา 67 และมาตรา 65)
ดังนั้นเห็นว่า กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า การรักษาเสถียรภาพทางการเงิน เป็นหน้าที่ของธนาคารกลางอย่างชัดเจน ธนาคารกลางจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระ (central bank independence) หากประเทศไหน ธนาคารกลางไม่มีความเป็นอิสระ หรือโดนกดดันจากฝั่งการเมืองเข้าแทรกแซง เช่น กดดันลดดอกเบี้ย เพื่อหวังการเติบโตในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ไม่สนใจเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาว ถือว่าเป็นเรื่องที่อันตราย นอกจากนี้อาจสร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ในต่างประเทศไม่กล้าเข้ามาลงทุนในไทยได้
ซึ่งความเป็น “อิสระของธนาคารกลาง” เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกมาหลายทศวรรษ สอดคล้องความเห็นของ "คริสตาลินา จอร์เจียวา" ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่ได้เขียนบทความเรื่อง "การเสริมสร้างความเป็นอิสระของธนาคารกลาง เพื่อปกป้องเศรษฐกิจโลก" ลงใน IMF Blog เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมองว่า ปัจจุบันธนาคารกลางในหลายประเทศเผชิญความท้าทายมากมายต่อ "การดำเนินงานที่เป็นอิสระ" โดยเฉพาะเสียงเรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นก่อนเวลาอันควร มีแนวโน้มว่าสถานการณ์เช่นนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึง "ความเสี่ยงถูกแทรกแซงทางการเมือง" ที่มีผลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย และการแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งสำคัญๆในธนาคารกลาง นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมรัฐบาลและธนาคารกลาง ต้องร่วมต่อต้านแรงกดดันเหล่านี้
ก็เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญ หากพิจารณาในสิ่งที่ธนาคารกลางที่มีความเป็นอิสระได้ดำเนินการประสบความสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น ธนาคารกลางได้ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงรุก เพื่อช่วยป้องกันผลกระทบทางการเงินที่ส่งทอดต่อไปทั่วโลก และเร่งฟื้นตัวทางการเงินที่รวดเร็ว ขณะที่การมุ่งเน้นการฟื้นฟูเสถียรภาพด้านราคา ธนาคารกลางได้ปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นอย่างเหมาะสม แม้ในช่วงเวลาที่ต่างกัน ซึ่งการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางที่ตอบสนองได้ช่วยรักษาความคาดหวังระดับเงินเฟ้อในประเทศ แม้ราคาจะเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษก็ตาม
จะเห็นได้ว่า บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย มีกฎหมายกำกับอย่างชัดเจน และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ผู้นำองค์กร โดยเฉพาะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มักยืนหยัดหลักการการบริหารนโยบายการเงินที่เน้นการดูแลเสถียรภาพและระบบการเงินเป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อมีกระแสความขัดแย้งระหว่าง ธปท. กับฝ่ายการเมืองมักมีกระแสความพยายามเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ธปท.บ้าง เปลี่ยนแปลงผู้นำ หรือ ผู้ว่าการฯ ออกมาบ้าง แต่ในทางปฎิบัตไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีความเสี่ยงในเรื่องความเชื่อมั่นจากนานาประเทศเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงด้วย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.