เปิดแผน กสทช. นำสายสื่อสารลงดิน กทม.-ปริมณฑล ต้องแล้วเสร็จปี 67

สายโทรคมนาคมตามเสาไฟฟ้า ยังคงเป็นปัญหากับประเทศไทยโดยเฉพาะในเมืองหลวงและพื้นที่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของทัศนียภาพ อุบัติเหตุ เมื่อมีสายตกลงมาบนท้องถนน รวมถึงปัญหาไฟไหม้สายสื่อสาร ด้วย แต่สิ่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจโทรคมนาคม ทำได้ คือการประสานการทำงานร่วมกับเจ้าของพื้นที่ในแต่ละจังหวัด และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสาย เนื่องจากแต่เดิมเอกชนใช้การพาดสายบนเสาไฟฟ้าในราคาไม่แพงหลักร้อยบาท ดังนั้นหาก กสทช.จะบังคับเอกชนให้ลงไปเช่าท่อร้อยสายในราคาที่แพงขึ้นกว่า 10 เท่า หรือ หลักหลายพันบาท จึงเป็นเรื่องยาก หากไม่มีงบประมาณสนับสนุน

ดังนั้น การแก้ปัญหาดังกล่าว ส่วนใหญ่จึงเป็นการทำงานร่วมกับ กฟน. หาก กฟน.มีแผนในการหักเสาไฟฟ้า ในเส้นทางใด ก็จะมีการนำสายสื่อสารลงไปด้วย แต่หากยังไม่มีการหักเสา กสทช.ก็ต้องดำเนินการจัดระเบียบสาย สำรวจสายตาย หรือ สายที่ไม่ได้ใช้งาน โดยการตัดทิ้ง และติดตามสายที่เกิดใหม่ ต้องขออนุญาตก่อนดำเนินการลากสาย รวมถึงการมีนโยบาย Single Last Mile ในการลากสายเข้าหมู่บ้าน ขอให้มีเจ้าภาพเพียงรายเดียว แม้ เพราะปัญหาสายรก รุงรัง ส่วนใหญ่มาจากประชาชนเปลี่ยนผู้ใช้บริการ ทำให้มีการลากสายเพิ่ม ให้เปลี่ยนเป็นใช้สายเดียวร่วมกัน

แผนจัดระเบียบ-นำสายลงดิน ปี 67

สำหรับแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสาย ของกสทช.ปี 2567 ประกอบด้วย 1.การจัดระเบียบสายสื่อสาร จำนวน  151 เส้นทาง ระยะทาง 440.21 กม. 2.การนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดิน จำนวน  32 เส้นทาง  ระยะทาง 67.02 กม.

มีผู้ให้บริการ จำนวน 7 ราย ประกอบด้วย

1.บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 17.4 กม.

2.บริษัท แอดวานซ์ ไว ร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN จำนวน 10 เส้นทาง ระยะทาง 16.9กม.

3.บริษัท ทริปเปิลทีบรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB จำนวน 4 เส้นทาง ระยะทาง 12.3 กม.

4.บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทาง 10.1 กม.

5.บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL จำนวน 2 เส้นทาง ระยะทาง 5.3 กม.

6.บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จํากัด หรือ UIH จำนวน 2 เส้นทาง ระยะทาง 1.3 กม.

7.บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SYMC จำนวน 1 เส้นทาง ระยะทาง 3.72 กม.

งบประมาณคือปัญหาหลักนำสายสื่อสารลงดิน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา NT มีความพยายามในการขอเป็นผู้ให้บริการท่อร้อยสาย เพื่อให้การนำสายสือสารลงดินรวดเร็วขึ้น ไม่ต้องรอโครงการที่กฟน.ทำ นั่นคือการหักเสา และสร้างท่อร้อยสายใหม่ เพื่อให้สายไฟฟ้า และ สายสื่อสาร อยู่ร่วมกัน จึงต้องใช้เวลานาน แต่เนื่องจาก NT มีท่อร้อยสายพร้อมใช้งานได้ทันที 4,450 กม.ทั่วประเทศ  แบ่งเป็นท่อร้อยสายในพื้นที่นครหลวง 3,600 กิโลเมตร และภูมิภาค 850 กม. สามารถทำได้ทันที แต่ด้วยราคาค่าเช่าที่ NT ตั้งไว้สูงกว่า การพาดสาย 10 เท่า จึงทำให้ความพยายามของ NT ไม่เป็นผล

และรัฐบาลก็ไม่มีงบประมาณมาช่วยเอกชน แม้ว่าในสมัยที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เอ่ยปากว่าจะอาสาของบประมาณจากรัฐบาลมาเดินหน้าโครงการนี้ ก็ยังต้องพับไป 

ขณะที่ กทม.เอง ในสมัยพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่า กทม. ก็มีการให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดโครงการหาผู้ประมูลมาสร้างท่อร้อยสายใหม่ เช่นกัน แต่เมื่อนำร่องทำในบางพื้นที่แล้ว ก็ไม่มีเอกชนรายใดมาเช่า เช่นกัน ด้วยราคาที่แพงกว่าการพาดสายบนเสาไฟฟ้าแบบเดิมๆ

กฟน.นำสายไฟฟ้าลงดิน  236.1 กม. ภายในปี 70

สำหรับ กฟน. มีแผนดําเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ กฟน. ดูแลและรับผิดชอบระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ครอบคลุมพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรีและสมุทรปราการ ระยะทางรวม 236.1 กม. กรอบระยะเวลาดําเนินการตั้งแต่ปี 2527-2570 สรุปดังนี้

1. แผนงาน/โครงการที่ดําเนินการแล้วเสร็จ 62.0 กม. ได้แก่

1.1 แผนปรับปรุงและขยายระบบจําหน่ายพลังไฟฟ้าฯ โครงการถนนสีลม ปทุมวัน และจิตรลดา (16.2 กม.)

1.2 แผนปรับปรุงและขยายระบบจําหน่ายไฟฟ้าฯ โครงการพหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท (24.4 กม.)

1.3 แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินฯ โครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) และโครงการนนทรี (14.3 กม.)

1.4 แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ในโครงการรอบพระตําหนักจิตรลดารโหฐาน (7.1 กม.)

2. แผนงาน/โครงการที่อยู่ระหว่างดําเนินการ 174.1 กิโลเมตร ดังนี้

2.1 แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) ระยะทางรวม 25.2 กม. มีกําหนดแล้วเสร็จปี 2567 ได้แก่ โครงการพระราม 3 อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 80.68 จากแผนงานที่กําหนดร้อยละ 82.70

2.2 แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินรัชดาภิเษก ระยะทางรวม 22.5 กม. มีกําหนดแล้วเสร็จ ปี 2568 ได้แก่ โครงการรัชดาภิเษก-อโศก และโครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 34.26 จากแผนงานที่กําหนดร้อยละ 44.00

3. แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็น มหานครแห่งอาเซียน ระยะทางรวม 127.3 กม. อยู่ระหว่างดําเนินการ 120.2 กม. มีกําหนดแล้วเสร็จ ปี 2568 ได้แก่

(1) โครงการพื้นที่เมืองชั้นใน (2) โครงการในพื้นที่เชื่อมโยงระบบส่งระหว่าง สถานีไฟฟ้าต้นทาง และ (3) โครงการในพื้นที่ก่อสร้างร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น ตามแนวรถไฟฟ้า สายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีน้ำเงิน สายสีเขียวเหนือ สายสีเขียวใต้ สายสีส้ม สายสีเขียวส่วนต่อขยาย สายสีม่วง โดยอยู่ระหว่าง จัดหาผู้รับจ้าง และการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 43.24 จากแผนงานที่กําหนดร้อยละ 45.49

4. แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด ระยะทางรวม 20.5 กม. มีกําหนดการแล้วเสร็จ ปี 2570 ได้แก่ (1) โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถ.รัตนาธิเบศร์ (ถ.ราชพฤกษ์-กาญจนาภิเษก) (2) โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถ.กรุงเทพ-นนทบุรี ถึง ถ. ติวานนท์ และ (3) โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถ. สุขุมวิท (ซ. สุขุมวิท 81 -ซ. สุขุมวิท 107 ) โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 21.88 จากแผนงานที่กําหนดร้อยละ 24.73

อย่างไรก็ตาม กฟน. ได้รายงานปัญหาและอุปสรรคในการดําเนินโครงการ ฯ พร้อมแนวทางแก้ไข มีดังนี้

1. การก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผนที่กําหนดเนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในเมือง ซึ่งมีโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคเดิมเป็นจํานวนมาก จําเป็นต้องแก้ไขและเปลี่ยนแปลงแบบใหม่ จึงทําให้เกิดความล่าช้า

2. ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีปริมาณมากขึ้น เป็นผลให้ต้องมีการปรับแบบการก่อสร้างเพื่อรองรับ การจ่ายไฟฟ้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น

3. ปัญหาการจัดชื้อจัดจ้างในการดําเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคไม่เป็นไปตามแผน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.