จุลพันธ์ ยืนยันไม่ได้แทรกแซงแบงก์ลดดอกเบี้ย

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวถึงกรณี ที่สถาบันการเงินได้ให้ความร่วมมือปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ภายหลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.การคลัง ได้ขอความร่วมมือกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งว่า เป็นการขอความร่วมมือในการช่วยบรรเทาภาระประชาชน ไม่ได้มีการสั่งการใดๆ  โดยนายกรัฐมนตรี ได้มาหารือถึงภาวะการณ์ของเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยที่กำลังกดทับพี่น้องประชาชนอยู่ 

 

ทั้งนี้ จุดยืนของรัฐบาลมีความชัดเจนว่า เราอยู่ในฐานะรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน รับผิดชอบต่อสภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจ รัฐบาลไม่ได้ดูแต่เพียงเสถียรภาพของสถาบันการเงิน หรือไม่ได้ดูแต่เรื่องเงินเฟ้อเท่านั้น รัฐบาลมีการพิจารณาในมิติที่มากกว่าหน่วยงานอื่น

 

“รัฐบาลได้พูดหลายครั้งแล้วว่า ด้วยสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยสูงเป็นภาระกับประชาชนมาก เราอยากเห็นตัวเลขที่ชัดเจน เช่น เรื่องกำไรของธนาคารพาณิชย์ไตรมาสแรกที่ผ่านมาก 6 หมื่นล้านบาท นั่นคือ เงินสภาพคล่องของประชาชนที่ถูกดูดซับออกไปจากตลาด นายกรัฐมนตรีก็ได้ใช้โอกาสนี้ในการเชิญผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งเพื่อมาพูดคุยกัน ไม่ได้มีการสั่งการใดๆ ซึ่งทั้ง 4 ธนาคารพาณิชย์ มีสัดส่วนมากในตลาดปัจจุบัน” นายจุลพันธ์ กล่าว

 

อย่างไรก็ดี ในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังนั้น รัฐบาลสามารถสั่งการให้ดำเนินการได้อยู่แล้ว แต่นายกรัฐมนตรีเห็นว่า หากดำเนินการแค่เฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งไม่ได้มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยในตลาด จะทำให้เกิดช่องว่างในเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกุ้ ซึ่งไม่เป็นการดี

 

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้แซงแทรงการทำงานของใคร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นองค์กรอิสระที่มีความเป็นอิสระ แต่ในพื้นฐานคำว่าอิสระนั้น ไม่ได้มีความอิสระต่อประชาชน ต่อความรับผิดชอบในเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน ทุกคนมีความรับผิดชอบเดียวกัน ซึ่งเรื่องที่นายกรัฐมนตรีดำเนินการไปนั้น แน่นอนว่าทุกคนต่างมองว่า ใครมีช่องทางอะไรในการช่วยประชาชน ก็เชื่อว่าจะไม่มีใครลังเลในการดำเนินการ เพราะเรายึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง 
 

ในส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ลง0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้กับเกษตรกรลูกค้ากลุ่มเปราะบางและเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาในการผลิต จนทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้เอ็นพีแอลที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยมีลูกค้าที่จะได้รับประโยชน์กว่า 1.2 ล้านบัญชี ทั้งนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และสนับสนุนการฟื้นตัวของลูกค้าในช่วงภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง โดยมีผลตั้งแต่ 1 พ.ค. - 31 ต.ค. 2567

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.