ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ อ่อนค่าลงเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 37.06 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.06 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.03 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.97-37.11 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนสูงในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้ง อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวราว +1.6% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี น้อยกว่าที่ตลาดคาด (ทว่าปัจจัยกดดันส่วนใหญ่มาจาก การเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลัง และ Net Exports)
ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในไตรมาสแรกของปีนี้ ก็พุ่งสูงขึ้นสู่ระดับ 3.4% สูงกว่าคาดไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจยิ่งชะลอลงช้า และทำให้เฟดอาจต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดให้นานขึ้น โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดได้ประเมินว่า เฟดมีโอกาสเพียง 35% ในการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้
ภาพดังกล่าวได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.70% ส่วนเงินดอลลาร์ก็แข็งค่าขึ้นบ้าง กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็ชะลอลงบ้าง ตามการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ที่ได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย จากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ
บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงขาย อาทิ Meta -11%, Microsoft -2.5% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (สำหรับ Meta ถูกกดดันเพิ่มเติม จากคาดการณ์ยอดขายที่ต่ำกว่าคาด) ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.64% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.46%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.64% กดดันโดยแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ SAP -3.1%, LVMH -2.8% นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของหลายบริษัทที่ออกมาแย่กว่าคาด ก็มีส่วนกดดันตลาดหุ้นยุโรปเพิ่มเติม เช่น Adyen -18%, Nestle -2.0%
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.70% หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด จากรายงานดัชนี PCE (และ Core PCE) ในรายงาน GDP ไตรมาสแรกของปีนี้ ที่ออกมาสูงกว่าคาด สะท้อนว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงได้ช้ากว่าคาดและเสี่ยงที่จะทำให้เฟดต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้นานขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวก็สอดคล้องกับมุมมองที่เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เสี่ยงทดสอบโซน 4.70% หากผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น
และในวันนี้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้เช่นกัน หากรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE (โดยเฉพาะ Core PCE) เดือนมีนาคม ออกมาสูงกว่าคาด อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นมีความน่าสนใจในทุกจังหวะการปรับตัวขึ้น (เน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip) โดยมี Risk-Reward ที่คุ้มค่ามากขึ้น
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่า) ออกมาบ้าง ทำให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาย่อตัวลง และโดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 105.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.5-106.0 จุด)
ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ย่อตัวลงหลุดโซน 2,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะรีบาวด์ขึ้นสู่โซน 2,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งการรีบาวด์ขึ้นดังกล่าวก็ของราคาทองคำก็ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง ทำให้ราคาทองคำย่อลงเล็กน้อยและแกว่งตัวแถวโซน 2,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม (รายงานในช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) ซึ่งหากออกมาสูงกว่าคาด ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น ส่งผลให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ไม่ยาก
นอกจากนี้ อีกไฮไลท์สำคัญที่ควรจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะทราบผลการประชุมในช่วงราว 10.00 น. ตามเวลาประเทศไทย และจะมีการแถลงต่อสื่อมวลชน โดยผู้ว่าฯ BOJ ในช่วง 13.30 น. โดยในการประชุม BOJ ครั้งนี้ เราคาดว่า BOJ อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม ทว่าต้องจับตาการปรับแผนการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของ BOJ ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ อีกทั้งต้องจับตาคาดการณ์เศรษฐกิจใหม่ของ BOJ ที่จะช่วยสะท้อนแนวโน้มนโยบายการเงินในอนาคต เช่น หาก BOJ ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ก็อาจสะท้อนว่า BOJ มีโอกาสทยอยขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ และที่สำคัญ ต้องระวังการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนญี่ปุ่นของทางการญี่ปุ่น หลังเงินเยนได้อ่อนค่าทะลุโซน 155 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งทางการญี่ปุ่นอาจใช้จังหวะในช่วงการประชุม BOJ เพื่อเข้าแทรกแซงได้ หรือ อาจรอในช่วงตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ก็ได้เช่นกัน
และในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานยอดการส่งออกและนำเข้าของไทยในเดือนมีนาคม ซึ่งคาดว่า ยอดการส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนสูงในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ ไปจนถึงช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ โดยต้องระวังการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของทางการญี่ปุ่น ที่สถิติในอดีต เราพบว่า การเข้าแทรกแซงดังกล่าวมักจะทำให้ เงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะสั้น ราว +3% เป็นอย่างน้อย ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็อาจทำให้เงินดอลลาร์ผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง และช่วยให้เงินบาทอาจแข็งค่าหลุดโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก
อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ ทำให้เงินบาทอาจยังติดโซนแนวรับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 36.60 บาทต่อดอลลาร์) และหากไม่มีการเข้าแทรกแซงเกิดขึ้น อีกทั้ง BOJ ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเพิ่มเติม เราคาดว่า เงินเยนญี่ปุ่นก็เสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าต่อ หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ซึ่งถ้าหากเงินดอลลาร์ได้แรงหนุนเพิ่มเติม จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่อาจจะออกมาสูงกว่าคาด ก็จะยิ่งทำให้เงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าทดสอบโซน 37.15-37.25 บาทต่อดอลลาร์ ได้เช่นกัน และหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ ระดับ 37.50 บาทต่อดอลลาร์ ก็จะเป็นแนวต้านถัดไป
อย่างไรก็ตาม ต้องรอจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ว่าจะทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือขายทำกำไรสถานะ Short THB ในช่วงโซนแนวต้านดังกล่าวเช่นกัน
เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.80-37.25 บาท/ดอลลาร์
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.