ศาลปกครองกลางยืนตามอนุญาโตฯ ดาวเทียมไทยคม 7-8 เป็นระบบใบอนุญาต
วันนี้ (6 มี.ค. 2567) ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้เพิกถอนข้อกำหนดในภาคผนวก ข รายละเอียดเกี่ยวกับข่ายงานดาวเทียมที่มีการใช้งานตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ แนบท้ายประกาศ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม (พ.ศ.2563) ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 เฉพาะส่วนที่กำหนดให้ข่ายงานดาวเทียม THAICOM-A3 THAICOM-A3B THAICOM-N3 และ THAICOM-Q2 ที่มีการใช้งานโดยดาวเทียมไทยคม 7 และ ดาวเทียมไทยคม 8 เป็นข่ายงานดาวเทียมที่มีการใช้งานตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เนื่องจากขัดต่อคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
พิพากษาให้เพิกถอนภาคผนวก ข รายละเอียดเกี่ยวกับข่ายงานดาวเทียมที่มีการใช้งานตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ แนบท้ายประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม (พ.ศ.2563) ลงวันที่ 13 ก.พ.63 ในส่วนที่กำหนดให้ข่ายงานดาวเทียม THAICOM-A3 THAICOM-A3B THAICOM-N3 และ THAICOM-Q2 ที่มีการใช้งานโดยดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 เป็นข่ายงานดาวเทียมที่มีการใช้งานตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ นับตั้งแต่วันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ และเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีในการประชุมครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 25 พ.ค.64 ในวาระที่ 5.2.11 ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 นับตั้งแต่วันที่มีมติดังกล่าว
สำหรับคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาล ลงวันที่ 9 ส.ค.64 นั้น ให้มีผลต่อไปจนกว่าคดีถึงที่สุดหรือจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก" คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ระบุคดีนี้ บมจ.ไทยคม (THCOM) กับ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) เป็นผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ 2, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เป็นผู้ร้องสอด และ กสทช. เป็นผู้ถูกฟ้องคดี โดยขอให้เพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม (พ.ศ.2563) ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และมติของ กสทช.ในการประชุมครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 25 พ.ค.64 ในวาระที่ 5.2.11 ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับผู้ร้องสอดเมื่อวันที่ 29 ก.ย.65 โดยวินิจฉัยว่า ดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 ไม่เป็นดาวเทียมภายใต้สัญญาสัมปทาน แต่เป็นดาวเทียมที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามของผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นการชี้ขาดข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศสำหรับดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 ระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้งสองและผู้ร้องสอด โดยคณะอนุญาโตตุลาการแล้ว
คำชี้ขาดดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันคู่กรณีจนกว่าศาลที่มีเขตอำนาจจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนหรือบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว ดังนั้นข้อกำหนดในภาคผนวก ข รายละเอียดเกี่ยวกับข่ายงานดาวเทียมที่มีการใช้งานตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ แนบท้ายประกาศ กสทช. จึงขัดกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวและมีผลให้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ฉะนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติในการประชุมครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 25 พ.ค.64 ในวาระที่ 5.2.11 อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมสำหรับดาวเทียม จำนวน 10 ข่ายงานดาวเทียม ตามภาคผนวก ข ของประกาศ กสทช. เรื่อง แผนบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม (พ.ศ.2563) ซึ่งรวมถึงข่ายงานดาวเทียม THAICOM-A3 THAICOM-A3B THAICOM-N3 และ THAICOM-Q2 ที่มีการใช้งานโดยดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 ในฐานะเป็นผู้มีสิทธิในการดำเนินกิจการตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.