เงินบาทวันนี้ 34.65-34.90 เปิดเช้าแข็งค่าขึ้น 34.70 บาท/ดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยสถานการณ์ค่าเงินบาทวันนี้อยู่ที่ระดับ 34.65-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.86 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 34.68-34.91 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อาทิ ประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 รวมถึงดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ต่างออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะส่งผลให้เฟดสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ตามคาด
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม (Risk-On) ซึ่งลดความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ยังได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้านอีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท Krungthai GLOBAL MARKETS ประเมินว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมาอาจชะลอลงได้บ้าง โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ว่าจะมีทิศทางชะลอตัวลงตามคาดหรือไม่ จึงประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในโซน 34.65-34.85 บาทต่อดอลลาร์ ได้ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ
ทั้งนี้ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ อาจช่วยหนุนให้ ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อได้ เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถทยอยเข้าซื้อหุ้นไทย เพื่อลุ้น Year-end Rally ต่อได้บ้าง โดยแรงซื้อหุ้นไทยดังกล่าว อาจช่วยหนุนให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นได้
ทว่า เริ่มเห็นแรงขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ของนักลงทุนต่างชาติในช่วงนี้ ซึ่งอาจลดทอนผลของแรงซื้อหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้มองว่า บรรดาผู้นำเข้าอาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ทำให้ เงินบาทอาจยังไม่ผ่านโซนแนวรับ 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นได้ หลังจากเผชิญแรงขายทำกำไรในวันก่อนหน้า หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ Nvidia +1.8%, Alphabet +1.5% ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงมั่นใจว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.26% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.03%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.21% ท่ามกลางแรงขายทำกำไร หลังจากที่ตลาดหุ้นยุโรปได้ปรับตัวขึ้นในช่วงก่อนหน้า จากความหวังการทยอยลดดอกเบี้ยของทั้ง ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) อนึ่ง ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนยังคงสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นยุโรป ผ่านแรงขายหุ้นกลุ่มยานยนต์และกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อาทิ Ferrari -2.5%, Kering -1.2%
ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ได้กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวลดลงใกล้โซน 3.82% ก่อนที่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดรวมถึงแรงขายทำกำไรจะช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยรีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 3.90% อีกครั้ง ซึ่งการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ดังกล่าว ยังคงสอดคล้องกับสิ่งที่เราประเมินไว้ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเคลื่อนไหวผันผวน และมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ทำให้เราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคา โดยต้องคอยระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งอาจกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดยังคงมั่นใจว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า ขณะเดียวกัน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ลดความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยลงบ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 101.8 จุด (กรอบ 101.7-102.4 จุด)
ในส่วนของราคาทองคำ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางความหวังของบรรดาผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้า ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทดสอบโซนแนวต้านสำคัญแถว 2,060 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนกลับมาขายทำกำไรทองคำอีกครั้ง โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนพฤศจิกายน โดยต้องจับตาว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ในส่วนภาคการบริการที่ไม่รวมผลของราคาที่อยู่อาศัย (Core Services ex Housing) ซึ่งข้อมูลที่เฟดจับตาอย่างใกล้ชิด จะชะลอตัวลงต่อเนื่องได้หรือไม่ เพราะหากอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวกลับเร่งตัวขึ้น ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดได้บ้าง ซึ่งอาจหนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากฝั่งอังกฤษ อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพฤศจิกายน โดยหากภาพการใช้จ่ายของผู้คนในอังกฤษยังคงขยายตัวได้ดี ก็อาจช่วยลดความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ BOE ลงได้บ้าง ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ได้ หรือ หากยอดค้าปลีกขยายตัวดีกว่าคาด ก็อาจช่วยหนุนให้เงินปอนด์ทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้างเช่นกัน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.