ไทยคม จับมือ โกลบอลสตาร์ ส่งดาวเทียม LEO ปักหมุดประเทศไทย บุกตลาด IoT
นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ บริษัท โกลบอลสตาร์ ผู้ให้บริการดาวเทียม Low-Earth Orbit (LEO) หรือ ดาวเทียมวงโคจรต่ำ สำหรับโซลูชัน IoT จากประเทศสหรัฐอเมริกา ในการเป็นสถานีดาวเทียม LEO ให้กับโกลบอลสตาร์ ในประเทศไทยแห่งแรก และให้บริการครอบคลุม CLMV (กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เป็นเวลา 10 ปี
โดยโกลบอลสตาร์ เป็นผู้ลงทุนอุปกรณ์และเช่าที่ดินในการสร้างสถานีดาวเทียมบนพื้นที่ สถานีบริการภาคพื้นดินไทยคม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เบื้องต้นโกลบอลสตาร์มีดาวเทียม LEO ให้บริการ 24 ดวง ทั่วโลก คาดว่าจะขยายเพิ่มเป็น 48 ดวงในเฟสถัดไป
ทั้งนี้ นอกจากไทยคมมีหน้าที่ในการบริหารจัดการสถานีดาวเทียมให้กับพันธมิตรแล้ว ไทยคมยังเป็นตัวแทนจำหน่ายในการทำตลาดสินค้าและโซลูชัน IoT ในประเทศไทยและภูมิภาค CLMV ด้วย โดยผลิตภัณฑ์ IoT มาในรูปแบบอุปกรณ์ขนาดเล็ก สามารถพกพาได้สะดวก เพื่อต้องการให้เป็นอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย สามารถระบุตำแหน่ง และส่ง SOS ขอความช่วยเหลือได้ โดยระบบจะเชื่อมต่อผ่านดาวเทียม LEO ทำให้สามารถใช้งานได้ทุกที่ทั้งในป่า อุทยานแห่งชาติ หรือ กลางทะเล ที่สัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่สามารถเข้าถึง
นายปฐมภพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเทคโนโลยี IoT ใช้คลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือในการทำงาน ทำให้มีข้อจำกัดในบางพื้นที่ห่างไกล หรือ พื้นที่ที่ไม่สามารถวางโครงข่ายโทรศัพท์มือถือได้ ส่งผลให้การใช้งาน IoT มีข้อจำกัดตามไปด้วย เช่น การวัดระดับน้ำในเขื่อน การวัดปริมาณน้ำฝนในป่า หรือ แม้แต่นักท่องเที่ยวที่หลงป่า หากโทรศัพท์มือถือไม่มีสัญญาณหรือแบตเตอรี่หมด ก็ไม่สามารถสื่อสารได้ แต่อุปกรณ์ IoT ที่ใช้งานผ่านดาวเทียม LEO นี้ มีความทนทานและใช้งานได้นาน
ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายในการทำตลาดของไทยคมหลักๆจะอยู่ที่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ด้านความปลอดภัย สำหรับนักท่องเที่ยว หากต้องเดินป่า หรือ เข้าไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ผู้ประกอบการเดินเรือ กลุ่มเรือประมง เพื่อให้ทราบเส้นทางเดินเรือที่ปลอดภัยและรู้แหล่งที่มาในการทำประมง โดยคาดว่าจะนำร่องทำตลาดที่ จ.ภูเก็ต ก่อน
กลุ่มที่สอง สำหรับติดตามของ หรือ ทรัพย์สิน เพื่อความปลอดภัย และรู้สถานะของสิ่งของ และกลุ่มที่สาม คือ IoT โซลูชัน สำหรับเชื่อมต่อกับเซ็นเซอร์อุปกรณ์ IoT เช่น เซ็นเซอร์การวัดระดับน้ำ เซ็นเซอร์การให้น้ำทางการเกษตร เซ็นเซอร์วัดอุณภูมิของดิน เป็นต้น
สำหรับอุปกรณ์ IoT จะมีลักษณะแตกต่างกันตามกลุ่มเป้าหมายในการทำตลาด โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท เป็นการขายขาด แต่ผู้ซื้อต้องซื้อค่าแอร์ไทม์ดาวเทียมเพิ่มด้วยประมาณเดือนละ 1,000 บาท คาดว่าในปีแรกจะขายทั้งอุปกรณ์และค่าแอร์ไทม์ได้ประมาณ 10,000 ชุด หรือ คิดเป็นมูลค่า 200 ล้านบาท
ตลาดของเราไม่ได้อยู่ในตลาดเดียวกับผู้ให้บริการมือถือแน่นอน เพราะเราจะเข้าไปเติมเต็มในพื้นที่ที่สัญญาณโทรศัพท์เข้าไปไม่ถึง เพื่อปลดล็อกให้การใช้เทคโนโลยี IoT เพิ่มขึ้น แม้ในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ก็สามารถใช้งานได้
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.