เงินบาทแข็งสุดรอบ4เดือนก่อนอ่อนค่าลงดัชนีหุ้นไทยปรับลงห่วงเศรษฐกิจไทย
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 4 เดือนที่ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะกลับมาทยอยอ่อนค่าลงช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทแข็งค่าขึ้นตามภาพรวมของสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชียท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดเริ่มสะท้อนท่าทียอมรับว่า วัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ อาจจะสิ้นสุดไปแล้ว นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยกดดันจากการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และตัวเลขยอดขายบ้านใหม่เดือนต.ค. ของสหรัฐฯ ซึ่งปรับตัวลงมากกว่าที่คาดด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่ากลับมาบางส่วน หลังกนง. มีการปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2566-2567 ลงมาในการประชุมวันที่ 29 พ.ย. ประกอบกับมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากการกลับมาขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย หลังเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายส่งสัญญาณว่า เฟดยังไม่มีการพิจารณาเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในปีหน้า
ในวันศุกร์ที่ 1 ธ.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.09 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.49 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 พ.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 27 พ.ย.-1 ธ.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,912.2 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 4,508.9 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 4,505.4 ล้านบาท และมีตราสารหนี้หมดอายุ 3.5 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (4-8 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.50-35.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย. ของไทย รวมถึงสัญญาณเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนต.ค. ดัชนี ISM/PMI ภาคบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนพ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคบริการเดือนพ.ย. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ รวมถึงตัวเลขการส่งออกเดือนพ.ย. ของจีนด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้หุ้นไทยขยับขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ โดยมีปัจจัยบวกจากการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ก่อนจะทยอยปรับตัวลงในเวลาต่อมา โดยมีปัจจัยลบ อาทิ ความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังกนง. ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้และปีหน้าลง แม้จะมีมติคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.50% ก็ตาม การปรับ MSCI Rebalance ซึ่งมีผลในวันที่ 30 พ.ย. ประกอบกับแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ แรงขายต่อเนื่องของหุ้นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยานก็ยังคงมีส่วนกดดันดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ด้วยเช่นกัน
ในวันศุกร์ที่ 1 ธ.ค. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,380.31 จุด ลดลง 1.23% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,744.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.39% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.64% มาปิดที่ระดับ 397.61 จุด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (4-8 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,375 และ 1,360 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,410 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพ.ย. ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนพ.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการบริการเดือนพ.ย. ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนตัวเลขนำเข้าและส่งออกเดือนพ.ย. ของจีน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.