เงินบาทอ่อนหุ้นไทยร่วงหลังสัญญาเฟดขึ้นดอกเบี้ยทำต่างชาติเทขาย

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนที่ 35.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะพลิกอ่อนค่าตลอดช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงแรกสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังจากที่ตลาดทยอยปรับลดโอกาสของการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งของเฟดในระยะข้างหน้าลงมา อย่างไรก็ดี เงินบาทเริ่มพลิกกลับมาอ่อนค่าลงในระหว่างสัปดาห์ตามทิศทางเงินหยวน ซึ่งมีปัจจัยลบจากตัวเลขการส่งออกของจีนเดือนต.ค. ที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง และตอกย้ำสถานะที่เปราะบางของเศรษฐกิจจีน        

นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดสะท้อนว่า เฟดยังคงไม่ปิดโอกาสของการขึ้นดอกเบี้ยต่อเพื่อควบคุมให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ กลับไประดับเป้าหมายที่ 2% เงินบาทยังอ่อนค่าลงเพิ่มเติมตามจังหวะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยในช่วงท้ายสัปดาห์ของนักลงทุนต่างชาติ หลังทางการมีการเปิดเผยรายละเอียดของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ในวันศุกร์ที่ 10 พ.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.71 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (3 พ.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 6-10 พ.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 9,343 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 10,679 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 13,467 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 2,789 ล้านบาท) 

สัปดาห์ถัดไป (13-17 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.40-36.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ในอิสราเอล และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อจากมุมมองของผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนต.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก และผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนพ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของอังกฤษและยูโรโซน และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนต.ค. ของจีน อาทิ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีก

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงและหลุด 1,400 จุด อีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยเผชิญแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติตลอดสัปดาห์ โดยปัจจัยกดดันหลักๆในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ความกังวลต่อสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟดช่วงปลายสัปดาห์ที่ระบุว่า ไม่มั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เพียงพอจะคุมเงินเฟ้อได้หรือไม่ สำหรับสัปดาห์นี้ หุ้นไทยเผชิญแรงกดดัน นำโดย หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีประเด็นการควบรวมกิจการ กลุ่มพลังงานหลังราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลง รวมถึงไฟแนนซ์และแบงก์

ในวันศุกร์ที่ 10 พ.ย. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,389.57 จุด ลดลง 2.13% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 44,239.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.21% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.30% มาปิดที่ระดับ 393.77 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (13-17 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,375 และ 1,350 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,415 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของบจ.ไทย

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนต.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนต.ค. ของยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนต.ค.ของจีน อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.