จับตาค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” กลางธ.ค.ไม่ฟรี เริ่มเก็บ 15 บาท

“รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ – คูคต กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เปิดให้บริการประชาชนโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายมาตั้งแต่ปี 2560 ส่งผลให้เป็นหนี้ผูกพันแก่เอกชนผู้รับสัมปทานจ้างเดินรถสะสมรวมปัจจุบันสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น หนี้งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท และหนี้ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) จ้าง BTSC เดินรถประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งระบุว่าคณะผู้บริหาร กทม.มีนโยบายที่จะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ในอัตรา 15 บาทตลอดสาย หากรวมกับค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 1 อ่อนนุช-แบริ่ง, ตากสิน-บางหว้า กับเส้นทางหลัก ค่าโดยสารสูงสุดจะไม่เกิน 62 บาท

เนื่องจากปัจจุบันพบว่าปริมาณผู้โดยสารที่ใช้เส้นทางส่วนต่อขยายสูงเฉลี่ย 2.5 แสนคนเที่ยวต่อวัน มีรายได้ประมาณ 3-4 ล้านบาทต่อวัน แต่ยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร ทำให้ กทม.มีภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการและการจ้างเดินรถเป็นเงินมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี การจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารนั้น กทม.ได้มอบให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ดำเนินการตามขั้นตอนให้ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมด กทม.จะรายงานกระทรวงมหาดไทย และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ หากเห็นชอบ ผู้ว่าฯ กทม.จึงลงนามออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า 30 วันก่อนเริ่มจัดเก็บค่าโดยสาร

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา เปิดเผยในฐานะกรรมการของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC โดยระบุว่า กรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเตรียมลงนามในประกาศกรุงเทพมหานครว่าด้วยเรื่องการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายนั้น บริษัทฯ ยังไม่ได้รับแจ้งจาก กทม. แต่หาก กทม.ลงนามแล้ว ตามกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ภายใน 30 วัน เพื่อให้เวลาในการประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึงก่อน ทั้งนี้ เมื่อมีการจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายแล้วหวังว่าทาง กทม.จะแบ่งรายได้มาจ่ายหนี้ให้ BTSC เพื่อให้หนี้ที่มีอยู่ลดลงบ้าง

สำหรับภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ BTSC ขณะนี้มีตัวเลขยอดหนี้รวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น หนี้งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท และ หนี้ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) จ้าง BTSC เดินรถ ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยล่าสุดทราบว่า กทม. อยู่ระหว่างพิจารณาหาแนวทางการชำระหนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

ด้านรายงานข่าวจาก กระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการเตรียมออกประกาศจัดเก็บค่าโดยสารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายว่า ปัจจุบันค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว เริ่มต้น 17 บาท และสูงสุด 47 บาท แต่หากมีการจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายอีก 15 บาท จะรวมเป็นสูงสุดไม่เกิน 62 บาทตลอดสาย โดยจะไม่มีการจัดเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน เพราะผู้โดยสารจะชำระค่าโดยสารช่วงส่วนต่อขยายเพียง 15 บาทเท่านั้น และเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเริ่มเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายได้อย่างเร็วสุดช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ หรืออย่างช้าในเดือน ม.ค.2567

สำหรับ แนวทางการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย เป็นหนึ่งในแนวทางที่สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เคยเสนอให้กับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ในสมัยนั้นพิจารณา โดยมี 3 แนวทาง ประกอบด้วย

1. ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย : โดยแนวทางนี้นับเป็นการจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราที่ต่ำ ช่วยลดภาระหนี้สินบางส่วน แต่สามารถลดผลกระทบค่าครองชีพประชาชนได้

2. เก็บค่าโดยสารแบบขั้นบันได : โดยสถานีที่ 1-5 เก็บ 15 บาท, สถานีที่ 5-10 เก็บ 20 บาท, สถานีที่ 11 เป็นต้นไปเก็บ 25 บาท รวมสูงสุดไม่เกิน 30 บาท

3. เริ่มต้น 15 บาท และปรับเพิ่ม 3 บาทต่อสถานี : ปรับราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนสถานี แต่สูงสุดไม่เกิน 30 บาท

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.