Dietz ดันระบบสาธารณสุขไทย หวังบริการแพทย์ทางไกลครอบคลุมทุกพื้นที่

เนชั่นกรุ๊ป จัดมหกรรมการแสดงสินค้า และความรู้เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมั่งคั่ง “Health & Wealth Expo 2023” โดยภายในงานยังมีเวทีกิจกรรมให้ความรู้ ทั้งการเงิน สุขภาพ ตั้งแต่วันที่ วันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

สำหรับเวที Health & Wealth Expo 2023: เสวนาสุดพิเศษจาก กูรูตัวจริง บนโลกออนไลน์ ในช่วง Special Talk: นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น จาก ETDA 's Hackathon 2023 Dietz Telemedicine Station ระบบการแพทย์ออนไลน์แบบครบวงจร ที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงแพทย์ได้ทุกที่ แม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง โดย คุณพงษ์ชัย เพชรสังหาร CEO, Dietz Telemedicine Station ให้ความเห็นว่า

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตนได้เห็นปัญหาระบบการรักษาทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเดินทาง การลงทะเบียนผู้ป่วย การรอคิวเพื่อเข้ารับการวินิจฉัย แม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปีเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความเจริญก้าวหน้า แต่สถานการณ์ในโรงพยาบาลของไทยยังไม่มีความต่างจากในอดีตมากนัก 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือจากภิกษุสงฆ์ที่อาศัยอยู่ในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งต้องเดินทางกว่า 200 กิโลเมตรเพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ในตัวเมือง กินเวลาเดินทางไป-กลับแล้ว 8 ชั่วโมง รอคิวเพื่อพบแพทย์อีก 4 ชั่วโมง แต่ได้รับการวินิจฉัยเพียง 5 นาที ซึ่งการรักษาไม่ได้จบในวันเดียว ยังต้องเฝ้าติดตามอาการอยู่เรื่อยๆ และในบางครั้งเรื่องของปัจจัยก็ถือเป็นเหตุผลหลักที่ส่งผลให้คนไข้ไม่สามารถมาพบแพทย์ได้ตามนัด 

ตนตระหนักว่า ประชาชนกว่า 90% เลือกที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ ทำให้สถานที่เกิดความแออัด รวมถึงตัวบุคลากรก็ได้รับความเครียดตามไปด้วย ทางด้านแพทย์เองก็อยากคุยกับคนไข้นานๆ แต่เนื่องจากใน 1 วัน ต้องวินิจฉัยคนไข้เยอะมาก เวลามีจำกัด จนบางครั้งอาจส่งผลให้เกิดการวินิจฉัยที่ผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ในเมื่อเราเข้าสู่ยุคใหม่แล้ว เราน่าจะนำธุรกิจต่างๆเข้ามาช่วยวงการสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้น

ตนและ Dietz จึงได้พัฒนาการแพทย์ทางไกล โดยทำระบบให้กับโรงพยาบาลในการช่วยเหลือดูแลคนไข้ให้ดียิ่งขึ้น เราเน้นในการช่วยเหลือผู้ป่วยกว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศที่รักษาในโรงพยาบาลรัฐ จากเดิมที่คนไข้ต้องเดินทางกว่า 100 กิโลเมตรเพื่อมารอคิวที่โรงพยาบาลในตัวจังหวัด ระยะเวลาตรงนี้จะถูกร่นไปเหลือเพียง 4-5 นาที เพราะคนไข้สามารถเดินทางไปยังสถานีอนามัยใกล้บ้านได้เลย แค่พกบัตรประชาชนมาลงทะเบียน ตรวจสอบสิทธิการรักษาก็สามารถคุยกับคุณหมอผ่านระบบออนไลน์ได้ ขณะที่การจ่ายยาจากเดิมที่อาจต้องรอหลายชั่วโมง ก็จะเหลือแค่ 15 นาที และคนไข้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

หากคนไข้มีสมาร์ทโฟนก็สามารถแอดไลน์ของโรงพยาบาลและตรวจสอบใบนัด คุยกับคุณหมอ และชำระเงินในส่วนต่างของสิทธิต่างๆได้เลย ไม่ว่าจะเป็น 30 บาทรักษาทุกโรค ประกันสังคม สิทธิข้าราชการ ฯลฯ ขณะที่การจ่ายยาทางโรงพยาบาลสามารถส่งตรงให้ถึงบ้านของคนไข้ได้เลย

ในช่วงโควิดที่ผ่านมา เรามีโอกาสช่วยเหลือผู้ป่วยประมาณ 200,000 คน ในกว่า 200 โรงพยาบาลทั่วประเทศด้วยการทำระบบ Home isolation หรือการรักษาผู้ป่วยโควิดที่บ้าน และถึงแม้โควิดจะเริ่มทุเลาลง แต่โรงพยาบาลต่างๆยังใช้ระบบการแพทย์ทางไกลอยู่ เพราะทางภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนในจุดนี้ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งจะขยายการให้บริการการแพทย์ทางไกลให้ได้ถึง 60% ของผู้ป่วยโรคเรื้อรังภายในปี 2027 

นอกจากนี้ ตนยังเล็งเห็นว่าในฐานะคนไข้บางครั้งเราก็ไม่อยากไปหาหมอ หรือติดตามอาการของโรคที่ไม่หนักมากนัก ดังนั้นหากมีเทคโนโลยีที่เข้ามาหนุนการติดตามอาการคนไข้จากที่ไหนก็ได้ ถือเป็นโอกาสสำคัญของสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการในการพัฒนาและขยายการแพทย์ทางไกลให้เติบโตมากขึ้น

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.