ส่องนโยบายปรับเงินเดือนข้าราชการ VS ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ผลกระทบต่อตลาดหุ้น?

นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติ 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558, พ.ร.บ.ระเบียบเงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558, พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2558

สาระสำคัญ คือ ให้ปรับเพิ่มเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของ ข้าราชการชั้นผู้น้อยทุกประเภทตั้งแต่ระดับ 1-7 ในอัตรา 4% ของเงินเดือนที่ได้รับอยู่ปัจจุบัน และยังปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนข้าราชการทุกประเภททุกระดับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10% โดยให้มีผลทันทีหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้มีผลบังคับย้อนหลังไปตั้งแต่ วันที่ 1 ธ.ค.2557 

ทั้งนี้ การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการดังกล่าว เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาราว 9 ปีแล้ว ที่ข้าราชการไทยไม่ได้มีการปรับฐานเงินเดือน  

จนกระทั่ง ล่าสุด สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ส่งหนังสือถึงหน่วยงานราชการรับทราบข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา เรื่อง การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

โดยมีสาระสำคัญ ระบุว่า ในคราวประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2566 นายกรัฐมนตรีเสนอว่า ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้ว่า รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างรายได้ สร้างชีวิตของคนไทยให้มีเกียรติ มีเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรมสอดคล้องและเพียงพอต่อปัจจัยด้านการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี จึงขอมอบหมาย ดังนี้

  • ให้กระทรวงแรงงานเร่งรัดการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว
  • ให้ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการพลเรือนรับไปเร่งรัดให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาความเหมาะสม และเป็นไปได้ แนวทาง กรอบระยะเวลา และผลกระทบของการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ชัดเจน และรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็วภายในเดือน พ.ย.2566

ขณะเดียวกัน ในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำได้มีการปรับขึ้นครั้งล่าสุด หลังจากที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2565 เห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2565-ปีล่าสุด อัตราวันละ 328-354 บาท หรือปรับค่าจ้างขึ้นต่ำเพิ่มวันละ 8-22 บาท ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565

ล่าสุด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ระบุว่า ในปี 2566 จะมีการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างแน่นอน แต่คงไม่ใช่ขึ้นเป็น 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรอข้อมูลของแต่ละจังหวัด เพื่อประชุมหารือที่กระทรวงแรงงานในวันที่ 17 พ.ย.นี้ จากนั้นจึงจะเป็นการหารือของคณะกรรมการค่าจ้างในรูปแบบไตรภาคี คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินกลางเดือน ธ.ค.2566 

ดังนั้น “โพสต์ทูเดย์” จึงนำเสนอมุมมองของนักวิเคราะห์ที่มีต่อการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการ และปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในเชิงบวกและเชิงลบอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน 

“ณัฐพล คำถาเครือ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “โพสต์ทูเดย์” ว่า การปรับอัตราเงินเดือนสําหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผลกระทบจะเป็นเชิงบวกมากกว่า เนื่องจากไม่กระทบต่อต้นทุนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้กับระบบเศรษฐกิจไทย โดยหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์ คือ ค้าปลีก (CPALL), อาหารเครื่องดื่ม (OSP), ไฟแนนซ์ (SAWAD)

ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยรวมจะส่งผลกระทบเชิงลบกับบริษัทที่มีการใช้คนจำนวนมาก เช่น ธุรกิจค้าปลีก (มองเป็นกลาง มีทั้งได้ด้านที่เสียประโยชน์ จากต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น และด้านที่ได้ประโยชน์ จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น) ร้านอาหาร และปั๊มน้ำมัน รวมไปถึงภาคผลิต ธุรกิจเหล่านี้จะถูกกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้น ทำให้ต้นทุนของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้น

สำหรับหุ้นกลุ่มที่ได้ผลกระทบเชิงลบ จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ร้านอาหาร, ปั๊มน้ำมัน และรับเหมาก่อสร้าง   

ขณะที่หุ้นกลุ่มที่ได้ผลกระทบเชิงบวก จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น คือ กุล่ม Domestic Play ได้แก่ ค้าปลีก (CPALL), อาหารเครื่องดื่ม (OSP), ไฟแนนซ์ (SAWAD) 

ทั้งนี้ มองว่าหากมีการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการก่อน ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี จะทำให้ไม่เห็นผลกระทบเชิงลบ และเมื่อเศรษฐกิจหมุนได้ จึงค่อยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเป็นไปตามที่มีข่าวว่าอัตราการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจจะไม่ใช่ 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการไม่พร้อมที่จะให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปในอัตราที่สูงมาก 

“ปีนี้เศรษฐกิจชะลอตัว จากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า งบประมาณที่จะนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่มี หากเร่งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็จะกระทบกับผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้นควรเป็นลักษณะทยอยปรับขึ้น ผลกระทบต่อต้นทุนก็จะไม่มาก ผู้ประกอบการรับมือได้ทัน ส่วนเงินเดือนข้าราชการก็ปรับขึ้นมากหน่อย เพราะไม่ได้กระทบกับผู้ประกอบการ”  

ตามนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน ภายใน 4 ปี หากคิดจากค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน คิดเป็นเพิ่มขึ้นประมาณ 60% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 15% ซึ่งหากปีแรก ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ถึง 400 บาท/วัน คิดเป็นเพิ่มขึ้นไม่ถึง 10% จากค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน มองว่าสมเหตุสมผล ไม่กระทบกับต้นทุนของผู้ประกอบการมากนัก และเป็นอัตราใกล้เคียงกับที่ปรับขึ้น 5-10% ในช่วงที่ผ่านมา ยกเว้นในช่วงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีการปรับขึ้นในอัตราที่สูง 

เช่นเดียวกับ “วทัญ จิตต์สมนึก” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย กล่าวกับ “โพสต์ทูเดย์” ว่า นโยบายการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการ ยังเป็นเพียงการศึกษาความเหมาะสม และเป็นไปได้ของแนวทาง กรอบระยะเวลา รวมไปถึงผลกระทบของการปรับอัตราเงินเดือนสําหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือน และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ชัดเจนเท่านั้น โดยให้รายงานผลให้ ครม. ทราบโดยเร็วภายในเดือน พ.ย.นี้ 

ทั้งนี้ หาก ครม.อนุมัตินโยบายดังกล่าว ประเมินว่าส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในเชิงบวกเล็กน้อย เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนไม่ได้มีภาระเพิ่มขึ้น (SG&A) ในภาพรวมไม่ได้สูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้รับภาระจากการปรับขึ้นเงินเดือน แต่บริษัทจดทะเบียนจะได้ประโยชน์ในแง่รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากกำลังซื้อที่จะมากขึ้น

โดยหุ้นกุล่มที่ได้รับประโยชน์ เช่น กลุ่มค้าปลีก (CPALL, BJC, HMPRO) ร้านอาหาร (AU, M) และท่องเที่ยว (AOT, CENTEL, ERW, MINT, SPA)

ด้าน “ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเกิดขึ้นจริง ตลาดอาจกังวลกับกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ลดลงไปบ้าง จากต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการในภาคการผลิตและภาคบริการที่มีสัดส่วนแรงงานรายได้ขั้นต่ำในระดับสูง เช่น รับเหมาฯ, อสังหาฯ, ชิ้นส่วนฯ, อาหารและเกษตร เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าโดยสุทธิแล้ว ผลกระทบโดยรวมต่อภาคการบริโภคของไทยจะเป็นบวก ซึ่งจะกลายมาเป็นอานิสงส์ทางอ้อมต่อกลุ่มค้าปลีก (COMM) ให้เป็น Sector ที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะกลางต่อไป โดยปัจจุบัน กลุ่มนี้ยังคงปรับตัว Laggard ตลาดในปีนี้อยู่ราว 6.3%

บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า ตามที่ รมว.กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในปีนี้จะมีการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างแน่นอน แต่ไม่ใช่ระดับ 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ เพราะฐานของค่าแรงแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน มองจำกัด Downside ต่อกลุ่มที่มีสัดส่วนค่าแรงสูง อาทิ สถานีบริการน้ำมัน, รับเหมา, อสังหาฯ, ร้านอาหาร และโรงแรม นอกจากนี้ สภาพัฒน์เตรียมสรุปแนวทาง “ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ” โดยรวมประเมินค่าแรง และเงินเดือนที่จะปรับขึ้น บวกต่อกลุ่มเช่าซื้อ (MTC) ค้าปลีก (CPALL, CPAXT) 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.