จับตารัฐบาลควักเงิน 4 หมื่นล้าน อุดค่าไฟแพง หลังกกพ.เคาะแพงขึ้นรับปีใหม่
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกพ. เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) สำหรับงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2567 อยู่ที่ 64.18 สตางค์ต่อหน่วย
จากปัจจัยแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ตลาดโลกสูงขึ้นตามปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น จึงให้สำนักงาน กกพ. รับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 10 – 24 พ.ย. 2566 มี 3 ทางเลือก
กรณี1 ค่าเอฟที 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 95,777 ล้านบาท ในงวดเดียว รวมเป็น 216.42 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย แล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 2 เอฟที 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างกฟผ.ใน 1 ปี จาก 95,777 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 งวดๆ ละ 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับ 114.93 สตางค์หน่อย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานต้องจ่ายค่าไฟ 4.93 บาทต่อหน่วย
และกรณีที่ 3 เอฟที 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างกฟผ. ใน 2 ปี จาก 95,777 ล้านบาท แบ่งเป็น 6 งวด ๆ ละ 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน ต้องจ่ายค่าไฟรวม 4.68 บาทต่อหน่วย
นายคมกฤช กล่าวว่า กกพ. ยังรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงเดือนพ.ค.-ส.ค. 2566 พบแอลเอ็นจีตลาดโลกปรับตัวลดลงในช่วงกลางปีที่ผ่านมาส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำกว่าประมาณการ และได้เงินส่งคืนส่วนต่างราคาก๊าซ จากการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2565 ที่กำหนดให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องคิดค่าก๊าซในรอบม.ค.-เม.ย. 2566 ตามราคาประมาณการ
ทั้งนี้ ทำให้มีเงินค่าต้นทุนส่วนเกินก๊าซนำมาคืนเป็นส่วนลดค่าก๊าซในรอบดังกล่าวเพิ่มเติม ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงมีค่าต่ำกว่าประมาณการ ทำให้ปลายเดือน ส.ค. 2566 กฟผ. มีภาระต้นทุนคงค้างลดลงเหลือ 95,777 ล้านบาท จึงนำมาใช้คำนวณการคิดค่าเอฟทีครั้งนี้
รายงานข่าวจากสำนักงาน กกพ. แจ้งว่า หากรัฐบาลต้องการตรึงค่าไฟฟ้าให้อยู่ที่ระดับ 3.99 บาทต่อหน่วย เบื้องต้นจากกรณีการขึ้นค่าไฟต่ำที่สุด คือ 4.68 บาทต่อหน่วย เท่ากับส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นจะอยู่ที่ 69 สตางค์ต่อหน่วย
การอุดหนุนทุก 1 สตางค์จะใช้เงิน 600 ล้านบาท เท่ากับรัฐบาลจะต้องใช้วงเงินอุดหนุนถึง 41,400 ล้านบาท ซึ่งต้องดูว่าจะหาแหล่งเงินจากที่ใด เพราะถือเป็นวงเงินที่ค่อนข้างสูง หากจะใช้วิธียืดหนี้กฟผ.อีก ก็ต้องดูความพร้อมและสถานะการเงินประกอบด้วย
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.