ศาลปกครองสูงสุดสั่งกลับคำศาลชั้นต้น รับพิจารณา กรณี ควบรวมทรู-ดีแทค

วันนี้ (30 ต.ค. 66) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ในคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 

กรณีขอให้เพิกถอนมติกสทช.ในการประชุมนัดพิเศษครั้งที่ 5/2565 วันที่ 20 ต.ค. 2565 ที่รับทราบเรื่องการควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด(มหาชน )และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค รวมทั้งประกาศ และนิติกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2565

ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค และยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) 

จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรือ อาจเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง 

การจะแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อน หรือ ความเสียหายที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับนั้น ต้องมีคำบังคับของศาลปกครอง ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยสั่งให้เพิกถอนมติของกสทช.ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นผู้มีสิทธิ์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา49 วรรค 1 แห่งกฎหมายเดียวกัน

ส่วนระยะเวลาการฟ้องคดี แม้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2566 จะเป็นการยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ที่ศาลปกครองไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาได้ 

แต่บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาด หรือ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม จึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย จึงทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ 

การที่ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคม จะควบรวมธุรกิจกันหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม มีผลทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบในวงกว้าง จึงถือได้ว่า การฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง 

กรณีจึงเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามมาตรา 3 แห่งกฎหมายเดียวกัน ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ตาม มาตรา 42 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.