จากอิสราเอล ถึง ไทย ในมุมมอง กัณวีร์ 'เราควรเปลี่ยนจุดยืนทางการทูต'
จากสถานการณ์ตึงเครียด สู้รบใน ประเทศอิสราเอล ทั่วโลกต่างเฝ้ามองด้วยความเป็นห่วง เหตุการณ์ครั้งนี้ จะอยู่ในวงจำกัด จบลงในเร็ววัน หรือ ลุกลามบานปลาย ยังเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าติดตามกันอย่างใกล้ชิด เพราะผลพวงจากครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อ ประเทศไทย ประชาชนคนไทย แรงงานไทย เสียชีวิต บาดเจ็บ และอยู่ในพื้นที่เปราะบางเป็นจำนวนมาก
'กัณวีร์ สืบแสง' สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม และอดีตหัวหน้าสำนักงานภาคสนามใน 8 ประเทศ เช่น ประเทศไทย(แม่ฮ่องสอน), เมียนมา, บังกลาเทศ, ซูดาน, ฟิลิปปินส์ ฯลฯ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และเป็นผู้ที่ทำงานด้านสันติภาพ ผู้ลี้ภัย สิทธิมนุษยชน มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ร่วมสะท้อน บทบาทกระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลไทย ต่อการเร่งให้ความช่วยเหลือคนไทย จากสถานการณ์สู้รบในประเทศอิสราเอล
"ต้องให้เครดิตรัฐบาล ตอบสนองต่อสถานการณ์ในพื้นที่ การให้ความคุ้มครองคนไทย แนวทางการช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล แม้ข้อมูลคนไทยที่ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต อาจจะไม่ตรงกัน แต่อย่างน้อยกระทรวงการต่างประเทศ พยายามทำงานเต็มที่ ติดตามทุกวิถีทางในการช่วยเหลือคนไทย ท่าทีของนายกฯ สั่งการกองทัพอากาศ เตรียมเครื่องบินC-130 รับคนไทยที่อยากออกจากพื้นที่กลับ หากน่านฟ้าในอิสราเอลเปิด
แต่การทำงานเชิงรุก กระทรวงการต่างประเทศอาจต้องช่วยทำงานเชิงรุกมากกว่านี้ เกี่ยวกับรายชื่อคนไทย ข้อมูลคนไทยในต่างประเทศ การที่คนไทยจะเดินทางไปต่างประเทศต้องขอวีซ่า กระทรวงต่างประเทศ ประสานสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลประจำประเทศไทย ทำเรื่องเกี่ยวกับชุดข้อมูล ชื่อ อยู่ที่ไหน เพื่อเป็นเหตุผลในการดูแลความปลอดภัยคนไทยในต่างประเทศ ที่สามารถประสานงานสถานทูต สถานกงสุลได้ เพื่อจะมีข้อมูลได้รู้ว่า มีคนไทยกี่คน เมื่อได้รับวีซ่าเรียบร้อยแล้วไปอยู่ตรงไหนบ้าง ส่วนประเทศไม่ต้องการวีซ่า กระทรวงการต่างประเทศ ก็ทำแอพพลิเคชั่น เมื่อไปต่างประเทศแล้ว ไปอยู่ที่ใด
หลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เขามีข้อมูลประชาชนทุกคนที่อยู่ในต่างประเทศ ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น จะส่งข้อมูลไปให้ประชาชน สื่อสารโดยเร็ว
2เรื่องนี้ ถ้าประเทศไทยทำได้ ถ้ารู้ว่า คนไทยอยู่ที่ไหน จำนวนกี่คน มีการติดต่อสื่อสารโดยเร็ว จะเป็นการลดภาระ ผลกระทบโดยตรง เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญในการดูแลคนไทยในต่างประเทศ ยิ่งประเทศที่มีความเสี่ยงเกิดภัยสงคราม ภัยพิบัติ ก็เป็นการลดความเสี่ยงที่เราสามารถทำได้ เป็นข้อเสนอ การทำข้อมูลเกี่ยวกับการทูตเชิงรุก"
นายกัณวีร์ ยังมองไปถึงแนวทางการเตรียมให้ความช่วยเหลือแรงงานไทย " เรื่องแรงงาน ในมาตรการที่ทางการไทยทำ เมื่อแรงงานกลับไทยมาแล้ว ต้องรอดูสถานการณ์ ดูการแจ้งความประสงค์จากเขา ต้องการกลับไปทำงานอีกหรือไม่ ถ้าจะกลับไป สามารถติดต่อประสานงานไป เพราะยังต้องใช้เรื่องเกี่ยวกับการทูต การตรวจคนเข้าเมือง ช่วยอำนวยความสะดวก ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ ส่วนแรงงานที่ไม่ต้องการเดินทางกลับไป หากเขามีทักษะในเรื่องนั้น ให้กระทรวงแรงงานหา ประเทศอื่นที่ต้องการแรงงานที่มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือได้"
นายกัณวีร์ ระบุอีกว่า "ท่าทีของไทย เกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ เราควรมองและวิเคราะห์สถานการณ์โลกในบริบทให้ครอบคลุม ไม่เพียงเฉพาะสถานการณ์อิสราเอล กับ ปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้น จริงๆเราสามารถพิจารณา สถานกาณ์ประเทศอื่นได้ เช่น ในประเทศพม่า สมมุติถ้าเกิดสงครามในประเทศพม่า ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไทยแน่นอน หรือหากเกิดในกัมพูชา ก็ย่อมมีผลกับประเทศไทย เราต้องมีหน่วยงานวิเคราะห์เรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยความมั่นคง หน่วยข่าวจากตำรวจสันติบาล ข่าวกรองจากทหาร สามารถประเมิน วิเคราะห์ให้ได้ อะไรเป็นจุดสูงสุด ผลกระทบจากสงครามและการสร้างสันติภาพ
ประเทศไทยอาจไม่จำเป็นต้องแสดงจุดยืนใครผิด ใครถูก แต่ควรต้องแสดงจุดยืนการสร้างสันติภาพ เราควรมีบทบาทอยู่ตรงไหน อย่างเช่นเรื่องพม่า หากมองดูในภูมิรัฐศาสตร์ เราอยู่ในจุดที่แก้ไขปัญหาได้มากที่สุด เราควรให้ความสำคัญ ส่วนประเทศอิสราเอล เราควรจะเน้นความปลอดภัย ความมั่นคงของคนไทยที่อยู่ในจุดนั้นๆ จุดยืนของไทยในเรื่องสันติภาพ ควรเน้นที่ผลประโยชน์ของชาติ ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
ในอดีต ผมเคยไปประชุมที่กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ในมุมมอง ถ้าจะให้มอง จะมีการปลดปล่อยได้อย่างไรในเรื่องสิทธิพลเมือง และสิทธิทางด้านการเมือง คนทุกคนในโลกนี้ ควรมีสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ มีเสรีภาพทำงาน การเดินทาง ถ้าสิทธิพื้นฐานความเป็นมนุษย์ถูกกดขี่ ก็อาจจะเกิดการต่อต้าน
การวางบทบาทไทยในเวทีโลก ในเรื่องนี้ กัณวีร์ ได้ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า ไม่ใช่เรื่องอิสราเอล อย่างเดียว แต่จุดยืนทางการทูตของไทย จำเป็นต้องเปลี่ยน จุดยืนทางการทูตของไทย เราย่ำอยู่กับจุดยืนทางการทูตที่เป็นอนุรักษ์นิยม เน้นความมั่นคงกระแสหลัก โดยเฉพาะใช้บทบาททางทวิภาคี ความสัมพันธ์ประเทศต่อประเทศ เราเน้นการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ เมื่อเราเน้นด้านนี้ เราจะเป็นผู้ตาม
พอมองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องดู จำเป็นต้องดูว่า ความเป็นผู้นำ ของประเทศไทยควรอยู่ตรงไหน เราต้องแสวงหาความเป็นผู้นำให้ได้ เรื่องการค้า การลงทุนก็จำเป็น แต่พอหรือไม่ สำหรับประเทศไทยในการเป็นผู้นำในเวทีโลก ผมว่าไม่พอ
ประเทศไทยควรแสวงหากรอบกระบวนการทัศน์ ความคิดใหม่ ในด้านการทูต เราควรเน้นการทูตแบบพหุภาคี โดยเราเน้นให้มากกว่า ทวิภาคี และเน้นให้มากในด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นงานด้านมนุษยธรรม ไทยน่าจะเป็นผู้นำได้ ถอดบทเรียนแก้ไขปัญหา อินโดจีน ตอนนั้นที่เราแก้ไข ได้รับการยอมรับมาก ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเป็นล้านๆคน เดินทางกลับประเทศเวียดนาม และส่งผู้ลี้ภัยอีกเป็นล้านคน ไปประเทศที่สาม ประเทศไทยตอนนั้นได้รับการยอมรับมากๆ
จริงๆถ้าประเทศไทย เน้นด้านนี้ ในการให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน และเรื่องมนุษยธรรม ถ้าเราเน้นด้านนี้ เราจะมีพื้นที่ในเวทีโลกและเป็นผู้นำได้ โดยไม่ต้องเสียเงินเลย แค่เป็นคนช่วยเหลือ เราอาจจะเริ่มจาก ผู้ลี้ภัยในพม่าที่อยู่ในไทยกว่า 9.1หมื่นคนมากว่า 43 ปี ชาวอุยกูร์กว่า 40 คน ที่ถูกกักขัง และชาวโรฮิงญา และผู้ลี้ภัยในเมือง เอาปัญหาใต้พรมมาไว้บนพรม เราจะแก้ไขอย่างไร ให้เขายืนอยู่ได้บนขาตัวเอง โดยไม่เป็นภาระของประเทศไทย และไม่ได้ใช้ภาษีคนไทย ให้เขาได้มาทำงานในประเทศไทย มาร่วมสร้างประเทศไทย หลังจากนั้นเขาก็เสียภาษีให้ประเทศไทย เป็นการแก้ไขแบบ win-win solution
ส่วนกรอบความร่วมมือต่างประเทศ ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ไทยควรเป็นภาคี ไปให้สัตยาบัน ไปรับรองกรอบกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้มาก จะเป็นจุดยืน แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยขอความเป็นผู้นำ เขาก็จะมองว่า ไทยเปลี่ยนแล้ว พอเปลี่ยน การค้า การลงทุน การศึกษา จะเข้ามาประเทศไทยเอง ประเทศไทยควรเปลี่ยนจุดยืนทางการทูต"
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.