'สามารถ'แนะทางรอดแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร รัฐบาลต้องร่วมลงทุน

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม.โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กดังนี้

แลนด์บริดจ์
อย่าให้ผิดหวังซ้ำซาก

หลายคนไม่รู้ว่า ก่อนมีโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ที่กำลังอยู่ในความสนใจในขณะนี้นั้น ได้มีโครงการแลนด์บริดจ์ กระบี่-ขนอม, แลนด์บริดจ์ ปีนัง-สงขลา และแลนด์บริดจ์ สตูล-สงขลา เกิดขึ้นก่อน แต่ไม่สามารถไปถึงฝั่งฝัน คนที่ลุ้นให้โครงการแลนด์บริดจ์เป็นรูปธรรมเสียทีก็คงหวั่นวิตกว่าจะผิดหวังซ้ำซากอีกหรือไม่ ?

1. แลนด์บริดจ์คืออะไร ?

แลนด์บริดจ์หรือสะพานเศรษฐกิจ เป็นการเชื่อมโยงการขนส่งทางน้ำด้วยการขนส่งทางบกผ่านถนน ทางรถไฟ และ/หรือท่อส่งน้ำมัน ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จะสร้างแลนด์บริดจ์ที่ไหนก็ได้ที่มีการเชื่อมโยงการขนส่งทางน้ำกับทางบก สำหรับของไทยจะสร้างแลนด์บริดจ์เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ซึ่งหวังว่าจะช่วยร่นระยะทางการเดินเรือระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกของไทย 

ในปัจจุบัน การขนส่งระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกของไทยเรือขนส่งจะต้องแล่นอ้อมช่องแคบมะละกาซึ่งอยู่ระหว่างสิงคโปร์กับเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย หรือช่องแคบซุนดาซึ่งอยู่ระหว่างเกาะสุมาตรากับเกาะชวา หรือช่องแคบลอมบอกซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะชวา
 

2. แลนด์บริดจ์โครงการแรกไปถึงไหน ?

แลนด์บริดจ์โครงการแรกคือ แลนด์บริดจ์ กระบี่-ขนอม โดยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2536 (รัฐบาลชวน หลีกภัย) ครม. มีมติเห็นชอบให้ก่อสร้างถนนสายกระบี่-ขนอม หรือทางหลวงหมายเลข 44 หรือที่เรียกกันว่าถนนเซาเทิร์นซีบอร์ด เป็นถนน 4 ช่องจราจร มีเขตทางกว้าง 200 เมตร (กันพื้นที่ตรงกลางไว้สำหรับก่อสร้างทางรถไฟ ท่อส่งน้ำมัน และท่อส่งก๊าซธรรมชาติ)ระยะทาง 133 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างทางหลวงนี้เมื่อต้นปี 2542 (รัฐบาลชวน หลีกภัย) และสร้างเสร็จในเดือนกันยายน 2546 (รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร) ใช้งบประมาณ 3,500 ล้านบาท

ปี 2538 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ศึกษาพบว่าโครงการแลนด์บริดจ์ กระบี่-ขนอม จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้เสนอให้ย้ายที่ตั้งท่าเรือไปยังตำแหน่งที่มีผลกระทบน้อยที่สุด

ปี 2540 ครม. มีมติกำหนดที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามันที่บ้านทับละมุ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา และฝั่งอ่าวไทยที่บ้านบางบ่อ อ. สิชล จ.นครศรีธรรมราช

โครงการไม่คืบหน้าเท่าที่ควรเนื่องจากขาดงบลงทุน และประสบวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 มีบางโครงการที่ได้ดําเนินการไปแล้ว เช่น ถนนเซาเทิร์นซีบอร์ด โครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติบงกช - เอราวัณ - ขนอม โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่อำเภอขนอม

วันที่ 2 กันยายน 2546 (รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร) ครม. มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาค โดยมีแลนด์บริดจ์เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญ แต่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ประชาชนในพื้นที่คัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก จนในที่สุดโครงการได้ถูกยกเลิกไป ทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไปได้

3. แลนด์บริดจ์โครงการที่ 2 คืบหน้ามั้ย ?

แลนด์บริดจ์โครงการที่ 2 คือแลนด์บริดจ์ ปีนัง-สงขลา โดยในปี 2537-2538 ภาคเอกชนของมาเลเซียผลักดันโครงการนี้ขึ้นมาตามกรอบการพัฒนา IMT-GT (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) มีเป้าหมายที่จะให้มีการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างปีนัง-สงขลา ด้วยท่อส่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ มอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ แต่อย่างไรก็ตาม แลนด์บริดจ์ ปีนัง-สงขลา ก็ยังไม่คืบหน้า

4. แลนด์บริดจ์โครงการที่ 3 ก็ถูกพับ

แลนด์บริดจ์โครงการที่ 3 คือแลนด์บริดจ์ สตูล-สงขลา โดยในปี 2548 (รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร) ครม. มีมติเห็นชอบโครงการเชื่อมโยงท่าเรือ 2 แห่ง ที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่ในฝั่งทะเลอันดามันที่ ต.ปากบารา อ.ละงู จ.สตูล และฝั่งอ่าวไทยที่บ้านสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา

ปี 2552 (รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ครม. ได้มีมติให้พัฒนาท่าเรือสองฝั่งทะเล โดยการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราฝั่งอันดามัน และท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ฝั่งอ่าวไทย

ความคืบหน้าของโครงการ

(1) ท่าเรือน้ำลึกปากบารา มีการศึกษาและออกแบบเสร็จแล้ว แต่ถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่และเอ็นจีโอ จนไม่สามารถสรุปรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment หรือ EHIA) ได้ อีกทั้ง พื้นที่ฝั่งสตูลได้รับการประกาศเป็นอุทยานธรณีโลกเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 จากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific, and Cultural Organization : UNESCO) ในที่สุดโครงการได้ยุติลง

(2) โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ในระหว่างการศึกษาสำรวจออกแบบและศึกษา EHIA ถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ ทำให้โครงการถูกพับไป 

(3) โครงการรถไฟทางคู่เชื่อมท่าเรือน้ำลึกปากบารากับท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ระยะทาง 142 กม. การศึกษาความเหมาะสมแล้วเสร็จในปี 2553 แต่โครงการได้หยุดลงตามการยุติท่าเรือน้ำลึกปากบาราและท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2

5. แลนด์บริดจ์โครงการที่ 4 ระนอง-ชุมพร จะรอดมั้ย ?

แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ที่หลายคนให้ความสนใจอยู่ในเวลานี้ ประกอบด้วยเมกะโปรเจกต์หลายโครงการ เช่น มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ ท่อส่งน้ำมัน ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ฝั่ง รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่หลังท่า มีมูลค่าโครงการกว่า 1 ล้านล้านบาท

แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร จะรอดได้ดังนี้

(1) รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงคมนาคมจะต้องมุ่งมั่น ไม่ลังเล พร้อมทุ่มเทสรรพกำลังอย่างเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนโครงการให้เดินหน้าให้ได้

(2) รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงคมนาคมจะต้องชี้แจงให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจ และยอมรับผลกระทบจากโครงการ และประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ หากประชาชนในพื้นที่ไม่ยอมรับ แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ก็จะถูกแขวนเหมือนแลนด์บริดจ์อื่นที่ผ่านมา

(3) รัฐบาลจะต้องเลิกแนวคิดที่จะให้เอกชนลงทุนโครงการเองทั้งหมด 100% เพราะจะทำให้โครงการเกิดขึ้นได้ยากมาก แต่หากโครงการสามารถเกิดขึ้นได้ ค่าบริการการใช้แลนด์บริดจ์ก็จะสูงด้วย ซึ่งจะลดทอนขีดความสามารถในการแข่งขันกับการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจะต้องร่วมลงทุนด้วย เพื่อทำให้ประชาชนที่ตั้งตารอคอยโครงการนี้มาอย่างยาวนานไม่ต้องผิดหวังซ้ำซาก

ที่มาเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.