นายกรัฐมนตรี ประกาศกลางเวที UNไทย ปรับเป้าปี 50 เป็นกลางทางคาร์บอน

ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 (UNGA78)  ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ถือเป็นปัญหาเร่งด่วนและร้ายแรงในปัจจุบัน ซึ่งช่วงเวลาผ่านมาได้มีโอกาสพบปะกับเกษตรกรของประเทศไทย และรับทราบโดยตรงถึงผลกระทบร้ายแรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกร จึงเป็นสิ่งที่เราต้องลงมือแก้ไขปัญหาทันที

 

ไทยขอชื่นชมวาระเร่งด่วนของเลขาธิการสหประชาชาติที่ได้สนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) ให้ใกล้เคียงกับปี ค.ศ. 2050 มากที่สุด พร้อมนำเสนอแผนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน รวมถึงการเลิกใช้ถ่านหินภายในปี ค.ศ. 2040 และเตรียมการสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น ฉบับปรับปรุง (Nationally Determined Contributions : NDCs) สำหรับปี ค.ศ. 2025 ซึ่งจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ทั้งหมด

 

ไทยพยายามอย่างที่สุดที่จะร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งคำนึงถึงการดำเนินการตามกระบวนการภายใน การเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสนับสนุนทรัพยากรทางการเงินและการสร้างขีดความสามารถ โดยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ UNFCCC COP ครั้งที่ 26 ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาที่สำคัญและมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศเพื่อให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050

โดยเราได้เพิ่มเป้าหมายการสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น (NDC) จาก 20% เป็น 40% ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งมีการดำเนินการที่มีผลเป็นรูปธรรม สะท้อนได้จากยุทธศาสตร์การพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในระยะยาว โดยประเทศไทยได้ทำงานอย่างหนักเพื่อจะบรรลุภารกิจที่สำคัญยิ่งนี้

 

รัฐบาลใช้เป้าหมายเหล่านี้ในการร่างแผนพลังงานแห่งชาติขึ้นใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเปลี่ยนแปลงในภาคการขนส่ง การเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และการเตรียมการที่จะยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน

 

ไทยได้ดำเนินโครงการนำร่องโดยใช้แนวความคิดจากเกษตรกรรมยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประสบความสำเร็จพร้อมต่อยอดโครงการ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและช่วยเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศอีกด้วย

 

รัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) สนับสนุนการใช้โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) และการวัดไฟฟ้าแบบสุทธิ (net-metering) เพื่อจูงใจการผลิตพลังงานสะอาด ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุม 55% ของพื้นที่ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2037

 

พร้อมกันนี้ ประเทศไทยยังได้ส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียว (Green Finance) อย่างแข็งขันผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันสามารถระดมเงินได้ในจำนวน 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านกลไกนี้ ไทยจะออกธนบัตรเชื่อมโยงกับความยั่งยืน กระตุ้นการเติบโตของพันธบัตรสีเขียว เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรต่างๆ จะได้รับแรงจูงใจในการบรรลุเป้าหมาย SDG

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ล่าสุดได้จัดตั้ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Department of Climate Change and Environment) ขึ้น เพื่อตอบสนองต่อผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะและเพื่อดำเนินการตามพันธกรณีที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อควบคุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบบังคับ เพื่อสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศให้แก่ทุกภาคส่วน

 

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยยังคงเร่งดำเนินการต่อเนื่อง พร้อมมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะบรรลุเป้าหมายและเอาชนะวิกฤตการณ์นี้

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความในบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว ระบุว่า

 

“ตามที่ผมได้ให้คำมั่นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน #SDG ไป วันนี้ ผมได้แสดงจุดยืนและวิสัยทัศน์อีกหลายหลายเวทีภายใต้กรอบ #UNGA78 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในระดับภูมิภาคและระดับโลก ประกอบด้วย

 

1. การหารือ High-level Dialogue on Financing for Development ซึ่งผมย้ำการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศด้านภาษีและส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อ SDG อย่างเสมอภาค ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนด้วย

 

2. Climate Ambition Summit หลังจากที่ได้พูดคุยกับพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผมคิดว่าไทยต้องมุ่งสู่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลจะปรับแผนพลังงานชาติเพื่อให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการผลิตและใช้ EV ปรับวิธีทำการเกษตรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเตรียมร่างกฎหมายรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

3. การประชุมคู่ขนานในกรอบ #SDGSummit ซึ่งไทยเป็นผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนเพื่อเปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาส และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้สอดคล้องกันทั้งภูมิภาค ไทยจึงมีแผนร่วมมือกับมิตรประเทศในอาเซียนจัดทำ ‘ASEAN Green Agenda’ เพื่อเป็นแนวทางหลักสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาอาเซียนให้กลายมาเป็นศูนย์กลางการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและเป็นจุดเชื่อมโยงหลักในห่วงโซ่อุปทานโลก

 

รัฐบาลไทยพร้อมดำเนินการตามวิสัยทัศน์เหล่านี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ผ่านการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปรับโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ และเร่งพัฒนาความร่วมมือ SDG ในกรอบอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนครับ”

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.