กรมที่ดิน แจงไร้อำนาจแทรกแซง มติคณะกก.สอบสวน ปมพิพาทเขากระโดง
กรมที่ดิน ชี้แจงรายละเอียดที่มาและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวน ตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน (คลิ๊กอ่าน) ภายหลังจากที่มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ 5,083 ไร่ บริเวณแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เนื่องจาก รฟท.ไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงให้ได้เป็นที่ยุติว่าเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่หาก รฟท.เห็นว่ายังมีสิทธิในที่ดินดีกว่าก็สามารถไปพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไปได้
ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กำหนดว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์แปลงใดเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีกรมที่ดินหรือรองอธิบดีผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมายมีอำนาจหน้าที่สั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้
แต่ก่อนที่จะมีคำสั่งแก้ไขหรือเพิกถอน ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อดำเนินการสอบสวนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเสียก่อน
อย่างน้อยจะต้องมีเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตัวแทนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่เป็นกรรมการ และตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียน โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553
กำหนดให้คณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขา หรือข้าราชการสังกัดกรมที่ดินที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายฯ เห็นสมควร เป็นประธานกรรมการ นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ ตัวแทนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ และผู้แทนส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควร เป็นกรรมการ และให้อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมาย แต่งตั้งข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปตั้งแต่ระดับชำนาญงานขึ้นไป หรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการตั้งแต่ระดับชำนาญการขึ้นไปในสำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา เป็นกรรมการและเลขานุการ
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวน
1. ดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานให้ได้ความว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
2. มีอำนาจเรียกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง
มาพิจารณา กรณีไม่อาจเรียกเอกสารให้บันทึกเหตุผลไว้ กรณีได้รับเอกสารให้ออกใบรับ (ท.ด.๕๓) ไว้เป็นหลักฐาน
3. แจ้งผู้มีส่วนได้เสียทราบเพื่อให้โอกาสคัดค้านการเพิกถอนหรือแก้ไข
4. รายงานผลการสอบสวนต่ออธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในกำหนดระยะเวลา
5. ขอขยายระยะเวลาการสอบสวน กรณีคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่สามารถดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา โดยจะสั่งให้ขยายระยะเวลาการสอบสวนได้ตามความจำเป็น
6. ขอเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบสวนฯ กรณีมีเหตุจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกรรมการสอบสวน
ขั้นตอนและวิธีการสอบสวน
1. ประชุมคณะกรรมการสอบสวนฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงตลอดจนเอกสารหลักฐาน กำหนดประเด็น และแนวทางในการสอบสวนพร้อมจัดทำรายงานการประชุม
2. ดำเนินการสอบสวนโดยรวบรวมพยานเอกสารและสอบสวนพยานบุคคล
3. แจ้งผู้มีส่วนได้เสียเพื่อให้โอกาสคัดค้าน โดยบันทึกให้ชัดเจน ว่าผู้มีส่วนได้เสียยินยอมให้เพิกถอน หรือคัดค้านการเพิกถอนหรือแก้ไขหรือไม่ หากคัดค้าน ให้ระบุเหตุผลการคัดค้านพร้อมแสดงพยานหลักฐาน และพิจารณาหลักฐานการคัดค้าน
การจัดทำรายงานการสอบสวน
คณะกรรมการสอบสวนฯ ต้องรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเอกสารหลักฐาน ทางกฎหมายตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เสร็จแล้วสรุปข้อเท็จจริงและเหตุที่มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งมีหน้าที่เสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมายฯ ว่าสมควรสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมในกรณีที่อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมายเห็นสมควรให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมตามนัยกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวน และการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฯ พ.ศ. 2553
เงื่อนไขการพิจารณาสั่งเพิกถอนหรือแก้ไข
อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมาย จะพิจารณาสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขได้ต่อเมื่อปรากฎชัดแจ้งว่าได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ ว่าการออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ออกไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมาย พิจารณายุติเรื่องตามข้อ 12 แห่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวนและการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฯ พ.ศ.2553
ดังนั้น คณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม2566 จึงเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ กรมที่ดินไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงการดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวนฯ ได้ กรมที่ดินเป็นเพียงผู้สนับสนุนข้อมูล เอกสาร พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้แก่คณะกรรมการสอบสวนฯ เมื่อได้รับการร้องขอ.
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.