ผู้เชี่ยวชาญUNจี้รัฐบาลไทยแก้ไข"คดีตากใบ"อย่าให้ขาดอายุความ
เว็บไซต์องค์การสหประชาชาติ (UN) www.ohchr.org เผยแพร่แถลงการณ์ของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (คลิ๊กอ่าน)
มีความกังวลใจว่า การขาดอายุความของกรณีตากใบซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 85 รายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของไทยเมื่อปี 2547จะทำให้ความพยายามเพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษสูญเปล่า
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2547 หลังการเจรจาล้มเหลว หน่วยงานความมั่นคงเปิดฉากยิงใส่ผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่หน้าสถานีตำรวจตากใบ จังหวัดนราธิวาสที่มารวมตัวกัน หลังมีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยหกคนซึ่งถูกกล่าวหาว่า จัดหาอาวุธให้กับผู้ก่อความไม่สงบ มีรายงานว่าทำให้มีผู้เสียชีวิต7ราย และมีการจับกุมตัวผู้ชุมนุม 1,370 คนนำไปสู่การให้ผู้ชุมนุมนอนซ้อนทับกันในรถบรรทุกเป็นเวลาห้าชั่วโมงเพื่อเดินทางไปยังค่ายทหาร ซึ่งถือเป็นกระทำทารุณกรรม และทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกจำนวน 78 คนที่ล้วนเป็นชาวมุสลิมมาเลซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางศาสนา
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ระบุด้วยว่า ยินดีที่ในที่สุดก็มีการดำเนินคดีอาญาสองคดีจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมีการออกหมายจับข้าราชการทั้งปัจจุบันและเกษียณอายุราชการแล้วที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามเรามีความกังวลอย่างยิ่งว่าหากไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อจากนี้ คดีความดังกล่าวจะจบลงเมื่ออายุความของคดีขาดไปในวันที่ 25 ตุลาคม 2567
ทั้งนี้ อยากย้ำเตือนว่าหน้าที่ในการสอบสวน กำหนดบทลงโทษ และให้การเยียวยาแก้ผู้เสียหายจากคดีดังกล่าวนั้นมิอาจยุติลงเพียงเพราะเวลาผ่านพ้นไป และความล้มเหลวของการสอบสวนและนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนี้นั้น เป็นการละเมิดพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย กฎหมายระหว่างประเทศบัญญัติมิให้มีการกำหนดอายุความต่อการทรมาน และการกระทำทารุณกรรมอื่นๆ และหากมีการกระทำให้บุคคลสูญหาย อายุความจะเริ่มนับได้หลังจากที่ความผิดนั้นสำเร็จแล้ว นั่นหมายถึงมีการระบุชะตากรรมและถิ่นที่อยู่ของผู้สูญหายได้อย่างแน่ชัดแล้ว
“ครอบครัวของผู้เสียหายต่างรอคอยเป็นเวลาเกือบสองทศวรรษเพื่อความยุติธรรม เราเรียกร้องให้รัฐบาลกระทำการอย่างเร่งด่วนเพื่อมิให้เกิดความล่าช้าของการรับผิดรับชอบอีกต่อไป และเพื่อให้สิทธิการรับรู้ความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยาได้รับการเคารพ”
ผู้เชี่ยวชาญยังเรียกร้องให้มีการสอบสวนชะตากรรมและถิ่นที่อยู่ของผู้สูญหายเจ็ดคนจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้ส่งหนังสือแสดงความห่วงกังวลต่อกรณีดังกล่าวไปยังรัฐบาลไทย
สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดในประเทศไทย เกี่ยวกับคดีตากใบ ครบกำหนดอายุความเวลาเที่ยงคืนของวันนี้ (25ตุลาคม 2567) และจนถึงตอนนี้ยังไม่ได้ตัวจำเลยมาที่ศาลจังหวัดนราธิวาสเพื่อยื่นฟ้องและสอบคำให้การ
ในนัดสอบคำให้การและติดตามจับกุมจำเลยคดีตากใบ เมื่อ 15ตุลาคม 2567 นายทรงพล พันธุ์วิชาติกุล พร้อมด้วยองค์คณะผู้พิพากษาศาลจังหวัดนราธิวาส ออกนั่งบัลลังก์ ปรากฎว่า ไม่มีการ จำเลยทั้ง 7 คนไปปรากฏตัวต่อศาลและยังไม่มีจำหน่ายคดี และนัดการพิจารณาคดีวันที่ 28 ตุลาคม 2567
ดังนั้นระหว่างนี้ จำเลยสามารถมามอบตัว รวมถึงตำรวจยังติดตามจับกุมให้ได้ภายในอายุความ 20 ปี ที่จะครบในเที่ยงคืนของวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ถ้าหากจำเลยคนใดคนหนึ่งมามอบตัว หรือมีการติดตามจับกุมได้ทันอายุความ ศาลจะพิจารณาในการสอบคำให้การตามขั้นตอนได้ในวันที่ 28 ตุลาคม 2567ด้วย
"วันที่ 28 ตุลาคม 2567 เป็นการนัดประชุมคดี พิจารณาคดีมีคำสั่งและคำพิพากษาในคดีนี้ หลังคดีหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 แต่หากระหว่างนี้มีจำเลยมามอบตัว หรือถูกจับกุมได้ ไม่ว่าคนใดคนหนึ่งก็จะสามารถเริ่มกระบวนการพิจารณาคดีได้ แต่หากไม่มีในวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ศาลจะมีคำสั่งต่อคดีนี้เป็นที่สิ้นสุด"
แม้อายุความของคดีตากใบกำลังใกล้หมด แต่ครอบครัวผู้สูญเสียยังคงรอคอยการยอมรับผิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ หากย้อนไทม์ไลน์หลังการรับพิจารณาคดีที่ประชาชนเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง มีความเป็นมาดังนี้
23 ส.ค.67 ศาลจังหวัดนราธิวาส รับฟ้องคดีสลายการชุมนุมตากใบเมื่อปี 2547 จำเลย 7 คน ข้อหาฆ่าผู้อื่น-พยายามฆ่าผู้อื่น-ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว
12 ก.ย.67 ศาลจังหวัดนราธิวาส ออกหมายจับ 6 จำเลยคดีสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ส่วน พล.อ.พิศาล อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 สส.พรรคเพื่อไทย ได้รับความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ
18 ก.ย.67 อัยการสูงสุดสั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คนคดีตากใบ วินิจฉัยว่าแม้จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถเพียงจำนวน 25 คันในการบรรทุกผู้ชุมนุมพันกว่าคน เป็นการบรรทุกแออัดเกินความเหมาะสม เป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย
3 ต.ค.67 ศาลจังหวัดนราธิวาส ออกหมายจับ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 สส.เพื่อไทย ในคดีสลายการชุมนุมที่ตากใบ แต่พบว่าลาราชการเดินทางไปประเทศอังกฤษเพื่อรักษาอาการป่วย ต่อมา ตำรวจภูธรภาค 7 เร่งติดตามผู้ต้องหาที่ยังคงหลบหนีคนอื่น ๆ
15 ต.ค.67 พรรคเพื่อไทย เผยว่ามีหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคของ พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี พร้อมสิ้นสภาพความเป็น สส.ขณะที่รัฐบาลเร่งประสาน "ตำรวจสากล-อินเตอร์โพล" ติดตาม-จับกุมตัวมารับโทษ
ด้านเรียกร้องการชดเชยทางแพ่ง ครอบครัวผู้สูญเสียบางส่วนที่เคยได้รับการชดเชยไปแล้ว แต่หลายครอบครัวยังคงต่อสู้เพื่อการชดเชยที่เหมาะสม รวมถึงการสนับสนุนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและนานาชาติยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้และเป็นไปได้ที่จำเลยทั้งหมดไม่มีใครมาแสดงตนต่อหน้าศาล
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.