เปิดผลลงคะแนนรายพรรค หลังสภาฯ คว่ำร่างข้อสังเกต รายงานนิรโทษกรรม
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. เวลา 14.35น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระพิจารณารายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ค้างต่อเนื่องจากการพิจารณาสัปดาห์ที่แล้ว
ก่อนการลงมตินายพิเชษฐ์เปิดโอกาสให้กมธ.และสมาชิกอภิปรายเพิ่มเติม โดยน.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน อภิปรายว่า สนับสนุนการนิรโทษกรรมทุกคดี ไม่มีข้อยกเว้นคดีใด ที่ผ่านมากมธ.เชิญแกนนำทุกสีมาให้ข้อมูลการนิรโทษกรรม คดีมาตรา112 ทุกคนเห็นด้วยให้นิรโทษกรรมคดีมาตรา112 แต่เหตุใดกมธ.ที่ไม่เห็นด้วยจึงมีปัญหา ไม่อยากให้ถ่วงการก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้คดีความผิดมาตรา112 มีเป็นพันคดี ไม่ใช่แค่หลักร้อย ขอให้เปิดใจให้โอกาสประชาชนที่มีคดีมาตรา112 ได้กลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนที่พวกท่านจับมือกันตั้งรัฐบาล
นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ขอให้สภาตั้งสติเรื่องการนิรโทษกรรม ควรตั้งคำถามคดีมาตรา112ว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งทางสังคม การเมือง ก็ต้องไปศึกษาจะมีกระบวนการทางกฎหมายอย่างไร วาระนี้ไม่ใช่วาระที่พรรคการเมืองจะมาแข่งกันแสดงความจงรักภักดี จะแก้ปัญหาความขัดแย้งแบบนี้หรือ ที่ผ่านมาเคยนิรโทษกรรม คดี 6ต.ค.2519 ก็มีคดีมาตรา112 อยู่ด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า นักศึกษาทำผิดมาตรา112 แต่ถูกกลั่นแกล้งใส่ร้าย จึงได้รับการนิรโทษกรรม ถ้ากลัวว่านิรโทษกรรมแล้วจะทำผิดซ้ำ ขอให้ไปดูประชาชนไม่เคยทำผิดซ้ำในประวัติศาสตร์หลังนิรโทษกรรม มีอยู่เรื่องเดียวที่ได้รับนิรโทษกรรมแล้วทำผิดซ้ำคือ การรัฐประหาร จึงไม่ต้องห่วงประชาชนจะทำผิดซ้ำ สภาควรแสดงความรับผิดชอบแก้ความขัดแย้งในสังคม ด้วยการนิรโทษกรรมคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ควรให้ความเห็นชอบข้อสังเกตของกมธ. เพื่อไปพิจารรณากฎหมายนิรโทษกรรม ก้าวข้ามความขัดแย้งด้วยความรอบคอบในอนาคต
นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการพิจารณารายงานศึกษานิรโทษกรรม สภาชุดที่แล้วเคยตั้งกมธ.ศึกษาแนวทางปรองดองและนิรโทษกรรม ให้มีการนิรโทษกรรมทุกคดียกเว้นคดีทุจริต คดีฆ่าคนตาย และคดีมาตรา110 และ112 รายงานดังกล่าวก็ผ่านความเห็นชอบสภาฯ แต่ไม่เคยถูกแปรไปสู่การนิรโทษกรรมจริงๆ ส่วนรายงานการพิจารณาแนวทางออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของกมธ.ครั้งนี้มีความสับสนในตัวรายงาน ข้อสังเกตกมธ.ไม่มีข้อยุติจะนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมคดีใดบ้าง ทุกอย่างไม่มีข้อสรุป
นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในประธานกมธ.ฯ อภิปรายสรุปว่า รายงานนี้เป็นเพียงการศึกษาแนวทางในการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กมธ.ฯ ไม่ได้บอกว่าให้นิรโทษกรรมอะไรบ้าง แต่โดยนัยยะความหมาย คือนิรโทษกรรมทางการเมืองที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ข้อความตรงนี้ไม่มีใครคัดค้าน ไม่มีใครไม่เห็นด้วย ส่วนว่าทำไมไม่ฟันธงว่าจะมีนิรโทษกรรมมาตรา 112 หรือไม่ กมธ.ฯมีความเห็นไว้ 3 ทาง เราสรุปไว้ในข้อสรุปสุดท้ายว่า เรื่องนี้ยังเป็นประเด็นอ่อนไหว ยังมีประเด็นความขัดแย้ง กมธ.ฯ จึงยังไม่มีข้อยุติ หากเราไม่รับรู้ รับทราบข้อเท็จจริงของทุกฝ่ายว่ ามีความเห็นอย่างไร ถ้าเราจะตรากฎหมายอะไร หากไม่ทราบข้อเท็จจริงและไม่รับทราบเหตุการณ์การกระทำที่เกิดขึ้น ผลก็คือเราจัดทำกฎหมายโดยไม่รอบคอบไม่ระวัง
“เชื่อว่ารายงานฉบับนี้เป็นประโยชน์สำหรับสมาชิกที่จะนำไปศึกษา ในการนำไปประกอบการพิจารณาว่าเราจะตามกฎหมาย ควรจะคำนึงถึงอะไร และควรจะมีสาระสำคัญอย่างไรบ้าง เปิดประชุมสมัยหน้าจะมีกฎหมายกฎหมาย 4 ร่างที่พวกเราคงจะต้องมาพิจาณาร่วมกันอีกครั้งหนึ่งซึ่งมีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากความผิดเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน รายงานฉบับนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของสมาชิก และข้อสังเกตไม่ได้บังคับองค์กรใดต้องทำตามนั้น จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ วันนี้เราควรจะยุติด้วยการรับทราบรายงาน และรับทราบข้อสังเกต”นายชูศักดิ์ กล่าว
หลังจากสมาชิกอภิปรายครบถ้วนแล้ว ในช่วงที่จะลงมติข้อสังเกตรายงานกมธ.นั้น นายพิเชษฐ์ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้ขอให้สมาชิกที่ไม่เห็นด้วยกับการรับข้อสังเกตรายงานของกรรมาธิการฯ ฉบับนี้ ให้เสนอเป็นญัตติขึ้นมาเพื่อให้มีการลงมติ ทำให้นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงแสดงความไม่พอใจ พร้อมกล่าวด้วยน้ำเสียงฉุนเฉียวว่า ตามข้อบังคับไม่จำเป็นต้องมีการเสนอญัตติ แค่ให้ที่ประชุมลงมติว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าวเท่านั้น จะเสนอญัตติทำไม ถ้าทำไม่ได้เปลี่ยนให้รองประธานสภาฯ คนที่ 2 มาทำหน้าที่แทน ทำให้นายพิเชษฐ์สวนกลับด้วยน้ำเสียงไม่พอใจเช่นกันว่า “ไม่ต้องชี้หน้า อยากเป็นให้ขึ้นมา”
จากนั้นเวลา 16.40น. ที่ประชุมลงมติข้อสังเกตรายงานกมธ. โดยนายพิเชษฐ์ ขานมติ ผลการประชุม ผลปรากฎว่า ลงมติ ไม่เห็นชอบ ข้อสังเกตกมธ.ด้วยคะแนน 270 ต่อ152 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ทำให้ข้อสังเกตตกไป โดยสภาฯจะส่งเฉพาะตัวรายงานให้ครม.เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการลงมติข้อสังเกตในรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ตรวจสอบจากเอกสารอย่างเป็นทางการ ผลปรากฎว่ามีเสียงเห็นด้วย 151 ไม่เห็นด้วย 269 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ซึ่งเป็นเสียงของนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2
สำหรับในฝั่งที่เห็นด้วยกับข้อสังเกต แบ่งเป็นเสียงของพรรคประชาชน (ปชน.) 138 คน ไม่อยู่ 7 คน นอกจากนั้นยังมี นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม. พรรคไทยก้าวหน้า, นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม และสุดท้ายคือสส.พรรคเพื่อไทย (พท.) 11 คน อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ, นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ รวมถึงยังมีอดีตก๊วนเสื้อแดงเก่า เช่น นายสุธรรม แสงประทุม, นายอดิศร เพียงเกษ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ เป็นต้น ส่วนน.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ ลูกสาวพล.อ.ขัตติยะ สวัสดิผล และเจ้าของญัตติ กลับโหวตงดออกเสียง
เป็นที่สังเกตว่าก่อนหน้าที่จะมีการลงมติ พรรคเพื่อไทย ประชุม สส. และมีมติว่าจะเห็นด้วยกับข้อสังเกตรายงาน แต่ปรากฎว่าเมื่อลงมติจริงกลับโหวตในลักษณะฟรีโหวต โดยส่วนใหญ่โหวตไม่เห็นด้วย 115 เห็นด้วย 11 งดออกเสียง 4 ไม่อยู่ 12 คน สำหรับพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ยังคงลงมติเช่นเดิม แบ่งออกเป็นกลุ่มงูเห่า 3 คน และกลุ่มที่ยังคงอยู่กับพรรคอีก 3 คน รอบนี้กลับไม่ปรากฎว่าลงมติใดๆ
ส่วนในฝั่งไม่เห็นด้วยนั้น เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่โหวตไปในทิศทางเดียวกันทั้งสิ้น 65 คน ไม่อยู่ 4 คน ส่วนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่เห็นด้วย 26 คน สำหรับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ยังคงไม่ปรากฎว่าลงมติใดๆ รวมถึงยังมีกลุ่มของร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา พรรคพปชร. 13 คน ทั้งนี้ พรรคกล้าธรรม ซึ่งเป็นพรรคในเครือข่ายของร.อ.ธรรมนัส ที่มีสส. 3 คน ลงมติไม่เห็นด้วยทั้งหมด
พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โหวตไปในทิศทางเดียวกัน มีไม่อยู่ 9 คน นอกจากนี้ ยังมีพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โหวตไม่เห็นด้วย 13 คน ไม่อยู่ 12 คน พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ไม่เห็นด้วย 5 คน ไม่อยู่ 5 คน ด้านพรรคประชาชาติ (ปช.) ไม่เห็นด้วย 6 คน งดออกเสียง 1 คน ไม่อยู่ 2 คน ขณะที่พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) 3 เสียงก็ลงมติไม่เห็นด้วยเช่นกัน
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.