ไทยสร้างไทยแนะรัฐบาลเป็นตัวกลางเจรจาสันติภาพในเมียนมาร์

นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยถึงผลการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 43 ระหว่างวันที่ 5-7 กันยายน 2566 ภายใต้แนวคิด Asean Matters: Epicentrum of Growth หรือ "อาเซียนเป็นศูนย์กลาง: สรรค์สร้างความเจริญ" วาระสำคัญในการหารือ ครอบคลุมเรื่องวิกฤตเมียนมาร์ ข้อพิพาททะเลจีนใต้ การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนในภูมิภาค และการผลักดันให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการสร้างความเจริญตามแนวคิดของประธานอาเซียนอินโดนีเซีย
 

ในโอกาสนี้ นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับวิกฤตเมียนมาร์ โดยต้องการให้มีการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ และพร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกเพื่อให้บรรลุสันติภาพและสร้างความเจริญในกับอาเซียนและที่อื่นๆ บนโลก ซึ่งนางสาวธิดารัตน์ เห็นว่าผู้นำคนใหม่ของกัมพูชาได้ใช้โอกาสบนเวทีอาเซียนแสดงจุดยืนด้านต่างประเทศ จึงอยากให้รัฐบาลไทยกอบกู้ศักดิ์ศรีประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะวิกฤตในภูมิภาค 
 

นางสาวธิดารัตน์กล่าวว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับเมียนมาร์และได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้น จึงควรยกระดับบทบาทด้วยการผลักดันให้เกิดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมาร์โดยเร็ว และเสนอเป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อสันติภาพ เน้นการเปิดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามามีมีส่วนร่วม เพื่อเร่งให้เมียนมาร์ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อให้ได้สำเร็จ และพลิกฟื้นภาพลักษณ์ด้านต่างประเทศของไทยในกลับมาน่าเชื่อถือ เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล เพื่อสร้างการยอมรับในหมู่ประชาคมโลก

การประชุมครั้งนี้ยังมีนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายหลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศรัสเซีย และผู้นำจากประเทศพันธมิตรอื่นๆ เข้าร่วมด้วย ถือเป็นบททดสอบสำคัญของอาเซียนในการดำรงความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจอย่างสมดุลทุกฝ่าย แม้อาเซียนจะเผชิญความตึงเครียด โดยเฉพาะทางการค้าและเทคโนโลยี เนื่องจากความพยายามเข้ามามีอิทธิพลเหนือทะเลจีนใต้ของจีน ประธานอาเซียนจึงเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการลดความขัดแย้ง เนื่องจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นย่อมสั่นคลอนสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคนี้

สำหรับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินไม่ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุม เนื่องจากติดภารกิจนำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ และได้มอบหมายให้นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมแทน โดยเน้นย้ำจุดยืนการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน หรือ ASEAN Centrality และจะดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างสร้างสรรค์บนหลัก ASEAN Outlook on the Indo-Pacific (AOIP) โดยใช้เวทีอาเซียนนำ อีกทั้งยังตอกย้ำบทบาทของอาเซียนในการแก้ไขสถานการณ์เมียนมาร์ โดยเฉพาะการผลักดันการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ

นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยยังพร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้น ทันสมัย และยั่งยืน ผ่านแนวคิด ASEAN green agenda ตลอดจนสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยให้ประชาชน รวมทั้งส่งเสริมสันติภาพของโลกผ่านเวทีอาเซียน เร่งแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และรักษาภูมิภาคอาเซียนให้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ตามสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งลงนามที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2538

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.