แกะรอยยึดทรัพย์ทักษิณ47,373ล.ปมใช้อำนาจนายกฯเอื้อชินคอร์ป
กรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว คาใจเรื่องการยึดทรัพย์ 47,373 ล้านบาทของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร และเรียกร้องให้รมว.คลังซึ่งขณะนี้คือนายกฯเศรษฐา ทวีสินและสำนักงานอัยการสูงสุด ที่เป็นโจทก์ที่ต้องเป็นผู้นำยึดและขายทอดตลาดทรัพย์ ตอบคำถามใน2วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อได้สืบค้นข้อมูลพบว่า ประเด็นยึดทรัพย์ 47,373 ล้านบาทของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ก.พ.2553 โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์ ของนายทักษิณตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากร่ำรวยผิดปกติจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
โดยตามมติเสียงข้างมากขององค์คณะผู้พิพากษาทั้ง9คนมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์นายทักษิณ และครอบครัว ที่ได้จากการขายหุ้นและเงินปันผลโดยระบุเหตุผลว่า เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ และเป็นการกระทำที่ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม
คำพิพากษาดังกล่าวมีขึ้นหลังอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์ของทักษิณและครอบครัวจำนวน 76,261.6 ล้านบาทตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้ยึดเฉพาะเงินค่าขายหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเงินปันผล และคืนส่วนที่เหลือ 30,247 ล้านบาท เพราะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เงินที่มีอยู่แต่เดิม
มติองค์คณะผู้พิพากษาระบุว่า ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทักษิณได้ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ รวมทั้งสิ้น 5 กรณี ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ได้แก่
- เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอไอเอส หลังแปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ทำให้รัฐเสียหายกว่า 60,000 ล้านบาท
- เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอไอเอส หลังปรับลดส่วนแบ่งค่าสัมปทานโทรศัพท์ระบบเติมเงิน
- ได้รับประโยชน์จากการแก้สัญญาให้รัฐร่วมรับผิดชอบค่าใช้เครือข่ายร่วมกับเอไอเอส ทำให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ได้รับความเสียหาย
- การสนับสนุนธุรกิจดาวเทียมไอพีสตาร์ เอื้อประโยชน์บริษัทชินคอร์ปฯ และไทยคม
- สั่งให้ EXIM Bank อนุมัติเงินกู้ให้พม่า 4,000 ล้านบาท เอื้อประโยชน์บริษัทไทยคมและชินคอร์ปฯ
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุง ได้ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยว่า ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นตามคำวินิจฉัยเรื่องเสร็จที่ 1357/2561 ว่า การดำเนินการยึดทรัพย์เป็นของแผ่นดินเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา โดยร่วมกับอัยการสูงสุดที่เป็นโจทก์ เป็นผู้นำยึดและขายทอดตลาดทรัพย์และหากไม่มีคำตอบ อาจมีผู้ไปทวงคำถามนี้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นต่อไปเรื่องนิรโทษกรรมว่า จะลบล้างการยึดทรัพย์ 47,373 ล้านบาทหรือไม่ หรือ คดีนี้ ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ซึ่งนายนิพิฏฐ์จะอธิบายความเรื่องนี้ในโอกาสต่อไป
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.