ศิธา ย้ำ พรรคการเมืองต้องสื่อสารตรงไปตรงมา ประชาชนต้องตำหนินักการเมืองได้

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดเสวนาวิชาการ “การเดินทางของประชาธิปไตย” ในโครงการศึกษาวิชาการด้านการเมือง การบริหารและกฎหมาย พูดคุยกับ 3 นักการเมือง นำโดย น.ต.ศิธา ทิวารี ร่วมกับชุติพงศ์ พิภพพภิญโญ สส.จังหวัดระยองพรรคก้าวไกล และวทันยา บุนนาค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ถึงภาพฝันการเมืองไทย และการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างก้าวหน้า-มั่นคง 

ช่วงแรกของการเสวนา 3 นักการเมือง ได้ฉายภาพ “การเมืองไทย” ในอุดมคติ โดย น.ต.ศิธา เปิดเผยว่า ตนเห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ นักการเมือง ต้องสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา และต้องแก้ปัญหาเรื่องระบบอุปถัมภ์ของการเมืองไทย 

น.ต.ศิธา ระบุว่า การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาของนักการเมือง จะทำให้ประชาชนตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่การสื่อสารที่เป็นเพียงเทคนิคการเรียกคะแนนนิยม เนื่องจากการบริหารประเทศเป็นการบริหารที่ต้องใช้ภาษีประชาชนในการบริหาร จึงไม่สามารถบริหารตามใจตนได้ 

สำหรับปัญหาระบบอุปถัมภ์ น.ต.ศิธา มองว่า ปัจจุบันนักการเมืองมีความเอนอ่อนต่อกลุ่มทุนใหญ่ มีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน โดยนักการเมืองรับประโยชน์จากกลุ่มทุนเหล่านั้นเป็นการตอบแทน นอกจากนี้ยังมองว่าการวางตำแหน่งทางการเมืองให้กับนักการเมืองนั่งในกระทรวงต่าง ๆ ยังไม่ตอบโจทย์กับการพัฒนาประเทศ

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามต่อว่า ‘วิธีการ’ ที่จะทำให้ภาพฝันการเมืองเหล่านั้นเกิดขึ้นได้จริงนั้นเป็นอย่างไร น.ต.ศิธา ระบุว่า ก่อนอื่นประชาชนจำเป็นต้องเข้าใจว่าตนสามารถตำหนินักการเมืองได้ เพื่อให้นักการเมืองตระหนักว่าสื่อสารอย่างไรแล้วจำเป็นต้องรับผิดชอบการสื่อสารนั้น นักการเมืองยังต้องทำตามข้อเรียกร้องของประชาชน ซึ่งในส่วนนี้ไม่สำคัญว่าจะเป็นพรรคหรือนักการเมืองที่มีอุดมการณ์ซ้ายหรือขวา 

ปิดท้ายด้วยคำถามสำคัญคือ ประชาธิปไตยไทย เดินหน้า หรือถอยหลัง น.ต.ศิธา ชี้ว่า ประชาธิปไตยของไทยเป็นประชาธิปไตยแบบ ‘ไทยๆ’ มีความซ้ายจัดและขวาจัด อันจะทำให้ประชาชนเลือกฝั่ง แตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่ความนิยมในพรรคการเมืองจะไหลไปไหลมาตามความโดดเด่น

อย่างไรก็ตามมองว่าพรรคการเมืองไทยมีการแสดงออกที่สุดโต่งมากไป จึงเป็นปัญหาตามมายังประชาชนที่เห็นด้วยกับทิศทางของพรรคบางอย่าง เช่น การขับไล่ผู้เห็นต่างออกนอกประเทศ ซึ่งหากไม่จัดการให้มีความพอเหมาะก็อาจเกิดความขัดแย้งทางการเมืองได้ 

น.ต.ศิธา ยังมองถึงปัญหาความต่างทางช่วงอายุวัยว่าอาจเป็นการแบ่งอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างผู้อายุน้อยกับผู้ที่มีอายุมากให้ยืนอยู่คนละฝั่งความคิดอันจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองเช่นกัน 

นอกจากงานเสวนาวิชาการ “การเดินทางของประชาธิปไตย” ที่อัดแน่นไปด้วยมุมมองของนักการเมืองจากหลากหลายพรรคแล้ว บรรยากาศพื้นที่โดยรอบงานเสวนายังคงคึกคักและเต็มไปด้วยการแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองของนักศึกษาภายในบูธวิชาการที่เรียงรายแน่นพื้นที่รอบคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์อีกด้วย

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.