กสม. ชง5ข้อหนุนนิรโทษคดีชุมนุมทางการเมืองยุติความขัดแย้งในอดีต

เมื่อวันที่ 15ก.พ.2567 นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีหนังสือขอทราบความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. .... (ฉบับพรรคครูไทยเพื่อประชาชน) ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งได้ติดตามการเสนอร่างกฎหมายและการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามาอย่างต่อเนื่อง 

ตรวจสอบแล้วพบว่า ปัจจุบันมีการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและร่างกฎหมายสร้างเสริมสังคมสันติสุข ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎหมายของพรรคพลังธรรมใหม่ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคก้าวไกล และร่างกฎหมายของภาคประชาชน 

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 สภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอ โดยกำหนดกรอบเวลาทำงาน 60 วัน มีนายชูศักดิ์  ศิรินิล เป็นประธานกรรมาธิการ

จากการศึกษาร่างกฎหมาย ประกอบหลักสิทธิมนุษยชน กสม. เห็นว่า รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เมื่อปรากฏการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมและได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม การนิรโทษกรรมจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการยุติความขัดแย้งในอดีตที่สมควรถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ในกรณีที่กระบวนการยุติธรรมปกติไม่อาจระงับความขัดแย้งได้ 

ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมต้องอยู่ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของการธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม และการไม่เลือกปฏิบัติ กสม. จึงมีความเห็น ดังนี้

(1) ความมุ่งหมายของการนิรโทษกรรม ที่ผ่านมาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมของฝ่ายนิติบัญญัติมีเจตนารมณ์ในการนิรโทษกรรมสองรูปแบบ คือ กรณีเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองและไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง ในกระบวนการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อยุติความแตกแยกทางความคิดและความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารในปี 2549 ครอบคลุมการกระทำความผิด อันเกิดจากการชุมนุม การประท้วง การเรียกร้อง การแสดงออก หรือการแสดงความคิดเห็น ที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งผู้กระทำความผิดมีมูลเหตุจูงใจแตกต่างจากเจตนาในการกระทำผิดทางอาญาในกรณีทั่วไป 

(2) การกำหนดช่วงเวลาที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ควรกำหนดให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ หรือห้วงเวลาที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยหรือผลที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั้งหมด และในปัจจุบันความขัดแย้งดังกล่าวก็ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทย ดังนั้น ควรกำหนดระยะเวลาการนิรโทษกรรมตั้งแต่ปี 2549 ถึงวันที่กฎหมายนิรโทษกรรมมีผลใช้บังคับ

(3) กรณีจำเป็นต้องมีคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการให้นิรโทษกรรมในกฎหมาย คณะกรรมการต้องมีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และไม่มีส่วนได้เสียในการพิจารณานิรโทษกรรม เพื่อไม่ให้ขัดกับหลักการที่ว่าผู้กระทำความผิดย่อมไม่อาจเป็นผู้ตัดสินความผิดที่ตนได้กระทำลง และเป็นหน้าที่ของรัฐในการดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิด รวมทั้งเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิด 

(4) ประเภทความผิดที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม ต้องกำหนดไว้โดยชัดแจ้งในกฎหมายหรือบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ ไม่ควรให้คณะกรรมการไปกำหนดประเภทหรือฐานความผิดในภายหลัง เพราะการนิรโทษกรรมถือเป็นข้อยกเว้นการกระทำความผิด ต้องใช้และตีความอย่างเคร่งครัด ไม่ขยายความไปใช้กับความผิดที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย เพื่อป้องกันปัญหาการใช้ดุลพินิจและการมีส่วนได้เสียในการให้นิรโทษกรรม และต้องกระทำผ่านองค์กรนิติบัญญัติซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนตามหลักการประชาธิปไตย 

(5) ความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรมจะต้องไม่เป็นความผิดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น การทรมาน การบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ การสังหารนอกระบบ การปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี การวิสามัญฆาตกรรม การสังหารโดยรวบรัดและตามอำเภอใจ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม การเอาคนลงเป็นทาส การค้ามนุษย์ และการกระทำรุนแรงที่เป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ เป็นต้น 

เนื่องจากเป็นกรณีต้องห้ามตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะละเมิดสิทธิในการได้รับความยุติธรรมและการชดใช้ความเสียหาย ละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศในการดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด ไม่สอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐที่ต้องสืบสวนการกระทำความผิด และสิทธิของเหยื่อที่จะได้รับการเยียวยาอย่างมีประสิทธิผล รวมทั้งละเมิดสิทธิในการรับรู้ความจริงของผู้เสียหาย 

ดังนั้น จึงต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและการลงโทษต่ออาชญากรรมที่เป็นการทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์ (Genocide Convention) อนุสัญญาต่อต้าน การทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ด้วย

“หลังจากนี้ กสม. โดย ประธาน กสม. จะมีหนังสือแจ้งความเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา เพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางในการจัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมต่อไป” นายวสันต์ กล่าว
 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.