'กรณ์'เชื่อกู้เงินแจกดิจิทัล1หมื่นไม่เกิดเพื่อไทยได้ประโยชน์พรรคเดียว

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ค แสดงความเห็นถึงโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลมีเป้าหมายกู้เงิน 5 แสนล้านมาใช้ในโครงการดังกล่าว โดยฟันธงว่า การกู้เงินมาเพื่อ ‘แจกเงินดิจิทัล10,000บาท’ คงไม่เกิดแล้ว แม้ว่าทางรัฐบาล (จริงๆ คือพรรคเพื่อไทย) ยังจะวางท่าทีขึงขังเหมือนจะเดินหน้าต่อก็ตาม

อดีต รมว.คลัง ระบุว่า เขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศออกมาก่อนเลือกตั้ง ด้วยหลากหลายเหตุผลที่ไม่ต่างกับผู้คัดค้านอีกหลายท่าน ทั้งในแง่การเมือง (การหาเสียงแนวนี้มีแต่จะทำให้การเมืองแย่ลง) แง่เศรษฐกิจ (เป็นการใช้เงิน (กู้) ที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ) และแง่กฎหมาย (รัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.วินัยทางการคลัง ชัดเจนมากว่าทำไม่ได้)
 

นายกรณ์ ระบุด้วยว่า ส่วนตัวได้ถอยจากการเมืองมาแล้ว ก็ไม่อยากออกตัวมากมาย แต่บางเรื่องที่ถือว่าพอมีความรู้และประสบการณ์ และเป็นเรื่องที่มีผลใหญ่หลวงกับบ้านเมือง และมีส่วนได้ส่วนเสียในฐานะประชาชนคนหนึ่ง จึงขอแสดงออก ส่วนจะผิดถูกอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจตัดสินใจเองอยู่ดี

"หลังจากที่ได้อ่านความเห็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผมสรุปได้เลยว่า ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ผลสรุปว่าสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันไม่อยู่ในเกณฑ์วิกฤต เมื่อไม่วิกฤตก็ไม่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา 53 พรบ.วินัยทางการคลังที่จะออกกฎหมายกู้เงินแบบ “นอกงบประมาณ” ดังนั้นเมื่อ ป.ป.ช. สรุปตามนี้ หากรัฐบาลเดินหน้าต่อไปจะเสี่ยงมาก อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยเขาอาจจะยังกล้าเดินหน้า... แต่ผมไม่คิดว่าพรรคร่วมจะเอาด้วย" นายกรณ์ ระบุ

เขาระบุด้วยว่า "ทางการเมืองนโยบายนี้เป็นของเพื่อไทย ไม่ใช่ของพรรคอื่น ถ้าทำได้และทำดี พรรคเดียวที่ได้ประโยชน์คือเพื่อไทย อันนี้ต่างกับนโยบายอื่นที่ก็มีคนคัดค้านมากมายเหมือนกัน เช่น Land Bridge เพราะนโยบายนี้พูดไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลลุงตู่ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ จึงมีส่วนเกี่ยวข้อง แม้แต่ภูมิใจไทยที่มีความเป็นพรรคภาคใต้มากขึ้นก็ไม่อยากค้านเรื่องนี้ ประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านยังไม่มีท่าทีเรื่องนี้ที่ชัดเจนเลย แต่แจกเงินดิจิทัลนี้ หากล้มไปตอนนี้ผมเชื่อว่าพรรคร่วมแทบทุกพรรคจะถอนหายใจโล่งอก หนึ่งไม่ต้องเสี่ยง สองปัญหาตกอยู่ที่พรรคเพื่อไทยพรรคเดียว แต่ถ้าล้มหลังผ่าน ครม. หรือผ่าน สภาฯ ไปแล้ว พรรคร่วมจะมีปัญหาด้วย เพราะต้องร่วมรับผิดชอบ" 

อดีต รมว.คลัง บอกอีกว่า ในกรณี พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านบาทนั้น ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ส่งผลให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบเพราะตอนนั้นยุบสภาไปแล้ว และรัฐบาลอยู่ในสภาพรักษาการ ที่สำคัญ ตอนที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นเรื่องร้องเรียน พ.ร.บ.ฉบับนั้น กับศาลรัฐธรรมนูญ เราก็ยื่นด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างกันนักกับข้อสรุปล่าสุดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็คือการออก พ.ร.บ.ในกรณีที่ไม่เร่งด่วนจำเป็นทำไมได้ ต้องใช้เงินใน พ.ร.บ.งบประมาณเท่านั้น (ซึ่งตอนหาเสียงพรรคเพื่อไทยเองก็ยืนยันว่าจะทำตามนั้น) และที่สำคัญผู้ที่ร่วมลงนามยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวันนั้น มีทั้งสส. ทั้งรัฐมนตรี และรวมไปถึงแม้แต่หัวหน้าพรรคของพรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบัน

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.