เศรษฐา ย้ำกลางที่ประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่น หวัง แลนด์บริดจ์ เชื่อมโยงไร้รอยต่อ

วันที่17 ธันวาคม2566 ที่โรงแรม Okura Tokyo กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น (the ASEAN-Japan Commemorative Summit for the 50th Year of ASEAN-Japan Friendship and Cooperation) ช่วงที่ 1 Plenary Session ในหัวข้อ Review of ASEAN-Japan relations และ Partners for Peace and Stability & Regional and International Issues โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีคิชิดะของญี่ปุ่นสําหรับการต้อนรับที่อบอุ่น โดยประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้ ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน – ญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมืออันยาวนาน รวมถึงการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านในปีนี้ยังเกิดจากความสัมพันธ์ที่โดดเด่นมาตลอดระยะเวลา 50 ปี แสดงถึงความสำเร็จที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรที่ได้รับความไว้วางใจ ในการนำสันติภาพ เสถียรภาพ ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมาสู่ภูมิภาค

สำหรับการกำหนดทิศทางอาเซียน – ญี่ปุ่นด้วยวิสัยทัศน์และแผนปฏิบัติการใหม่ เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตและความเปราะบางของสันติภาพโลก รวมทั้งความมั่นคงในภูมิภาคที่เกี่ยวโยงกัน จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์และภูมิเทคโนโลยี

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงความพยายามของรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตยและเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมแสดงความมุ่งมั่นในการแสดงบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในภูมิภาคและเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงยังเน้นย้ำถึงความเข้มแข็งและเป็นเอกภาพของอาเซียน ซึ่งทุกฝ่ายควรทำงานร่วมกันเพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ร่วมกันของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง และครอบคลุม ที่มีอาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมความร่วมมือในภูมิภาค 

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอประเด็นความร่วมมือในอนาคตเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน 3 ประการ ดังนี้ 

ประการแรก การบูรณาการความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ก้าวหน้า ทุกฝ่ายจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน - ญี่ปุ่น (ASEAN - Japan Comprehensive Economic Partnership - AJCEP) และความตกลง RCEP อย่างเต็มที่ เพื่อเชื่อมโยงตลาดที่มีศักยภาพ รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ความร่วมมือภายใต้กรอบอนุภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ACMECS และความร่วมมือแม่โขง-ญี่ปุ่น เพื่อความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค ลดช่องว่างการพัฒนา และสร้างขีดความสามารถระดับภูมิภาคเพื่อการเติบโตที่ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ ประเทศไทยกำลังพัฒนาโครงการ Landbridge เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ เชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งไทยยินดีร่วมมือกับทุกพันธมิตรที่สนใจทั้งภาครัฐและเอกชน

ประการที่สอง การพัฒนาที่ยั่งยืนและการเติบโตสีเขียว ไทยยินดีสนับสนุนข้อริเริ่ม Asia Zero Emission เพื่อเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของอาเซียน (Strategic Program for ASEAN Climate and Environment) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมยินดีที่ญี่ปุ่นริเริ่มและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสีเขียวของอาเซียนด้วย นอกจากนี้ ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดชั้นนำและเป็นศูนย์กลางการผลิต EV และรัฐบาลยังดำเนินการเตรียมออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี 

ประการที่สาม ความมั่นคงด้านสุขภาพ โดยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ตระหนักถึงความมั่นคงทางสุขภาพ โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมที่ญี่ปุ่นสนับสนุนเงินจำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับศูนย์อาเซียนว่าด้วยสาธารณสุขฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ หรือ ACPHEED เพื่อเสริมสร้างการตอบสนองด้านสาธารณสุขในภูมิภาค รวมถึงยินดีที่ไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการส่งเสริมประเด็นเรื่องประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระดับโลก พร้อมหวังว่าจะนำไปสู่ระบบสาธารณสุขที่มีความเท่าเทียมและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ประเด็นสถานการณ์ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จำเป็นต้องกระชับความร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อนำไปสู่สันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคและต่อโลก ทั้งสงครามในยูเครนที่ยังคงไม่สงบ รวมถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ความขัดแย้งเริ่มขยายตัว สำหรับสถานการณ์ในเมียนมา ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ไทยหวังว่าทุกฝ่ายจะยังไม่ยอมแพ้ต่อการสร้างความสงบสุขในเมียนมา ซึ่งประเทศไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านพร้อมแสดงบทบาทนำในการช่วยเหลือเมียนมา เพื่อนำไปสู่การดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ ของอาเซียน นอกจากนี้ไทยยังได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตลอดแนวชายแดน เพื่อให้พลเรือนได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็น พร้อมหวังว่าความช่วยเหลือดังกล่าวจะช่วยสร้างพื้นที่สำหรับการเจรจาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้น ทั้งในเมียนมาเองและในกรอบของอาเซียน และเชื่อมั่นว่า อาเซียนและญี่ปุ่นจะร่วมมือกับไทยในเรื่องดังกล่าว

นายกรัฐมนตรีมองว่า การดำเนินการจะไม่ง่าย แต่ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกันและส่งเสริมมิตรภาพที่ใกล้ชิดของทุกฝ่าย โดยมีความไว้วางใจเป็นกุญแจสำคัญ จะสามารถจัดการกับความท้าทายร่วมกัน และเสริมสร้างโอกาสทองในความสัมพันธ์ของอาเซียนและญี่ปุ่นได้มากขึ้น ดังสุภาษิตที่ว่า “การเดินกับมิตรในความมืดมิด ยังดีกว่าเดินลำพังในแสงสว่าง” (walking with a friend in the dark is better than walking alone in the light)

 

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.