จับตา9อรหันต์ไฟเขียวขังนักโทษนอกเรือนจำ ตามระเบียบใหม่ราชทัณฑ์
กรณีนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ออก ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ซึ่งระเบียบนี้เป็นที่จับตามองว่าออกมาเพื่อเอื้อต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ โดยเฉพาะนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น14 โรงพยาบาลตำรวจและจะครบกำหนดเวลา 120 วัน วันที่ 22 ธ.ค.2566
สำหรับระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 มีผลใช้บังคับตั้งแต่เมื่อวันที่ 7ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา ลงนามประกาศโดย นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์
สาระสำคัญของระเบียบใหม่นี้เพื่อให้การบริหารงาน การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเรือนจำและเจ้าหน้าที่ การปฏิบัติตัวของผู้ต้องขังและการอื่นอันจำเป็นเกี่ยวกับสถานที่คุมขัง ตามมาตรา33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 เป็นไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งระเบียบคำสั่งถูกแบ่งออกเป็น6หมวด ประกอบด้วย
หมวด1 สถานที่คุมขัง นอกเหนือจากสถานที่ราชการแล้ว สามารถคุมขังได้ภายนอกที่ไม่ใช่เรือนจำ ทั้งวัด มัสยิด สถานประกอบการเอกชน มูลนิธิ สถานสงเคราะห์
หมวด 2 กำหนดคุณสมบัติผู้ต้องขัง ที่ได้รับการพิจารณาให้ออกไปคุมขังนอกเรือนจำ เป็นผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์ ผ่านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังรายบุคคล โดยคณะทำงานพิจารณาการคุมขังนอกเรือนเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังประจำเรือนจำ ดำเนินการคัดกรองแล้วเสนอต่อผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณา
ทั้งนี้ "คณะทำงาน"หมายความว่า คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง ประกอบด้วย รองอธิบดีที่กำกับดูแลกองทัณฑวิทยาเป็นประธาน ผู้อำนวยการกองทัณฑวิทยา ผู้อำนวยการกองทัณฑปฏิบัติ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพฤตินิสัย ผู้อำนวยการกองบริการทางการแพทย์ และผู้อำนวยการกองกฎหมายและบุคคลภายนอกซึ่งอธิบดีแต่งตั้งจากบุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข 1 คนและด้านสังคมสงเคราะห์หรืออุตสาหกรรม 2 คน โดยมีผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรการควบคุมผู้ต้องขัง สังกัดกองทัณฑวิทยา เป็นคณะทำงานและเลขานุการ และข้าราชการสังกัดกองทัณฑวิทยาที่ได้รับมอบหมายอีกไม่เกิน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
หมวด 3 การพิจารณาให้ผู้ต้องขังออกไปคุมขังนอกเรือนจำ คณะทำงานฯ ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้แก่ ข้อมูลการถูกดำเนินคดีซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลในคดีอื่น ประวัติและพฤติกรรมก่อนต้องโทษ ประวัติการใช้ความรุนแรงหรือการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว ประวัติการเกี่ยวช้องกับยาเสพติด ประวัติการกระทำผิด ความผิดเกี่ยวกับเพศ การเปลี่ยนหรือย้ายที่อยู่อาศัย พฤติกรรมขณะต้องโทษ และรายละเอียดอื่นเท่าที่จะรวบรวมและพิจารณาว่าผู้ต้องขังสมควรที่จะใช้วิธีการคุมขังในสถานที่คุมขัง
หมวด 4 ให้ผู้บัญชาการเรือนจำเป็นผู้กำกับสถานที่คุมขัง ต้องอยู่ใกล้เรือนจำมากที่สุดและผู้ดูแลสถานที่คุมขังเป็นข้าราชการ พนักงานราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมถึงรายงานให้ผู้กำกับสถานที่คุมขังทราบอย่างน้อยสัปดาห์ละ1ครั้ง
หมวด 5 การเพิกถอนการคุมขังนักโทษนอกเรือนจำ ให้ผู้กำกับสถานที่คุมขังนำนักโทษ กลับมาจำคุกที่เรือนจำทันทีโดยนับระยะเวลาคุมขังนอกเรือนจำเป็นระยะเวลาจำคุก
หมวด 6 เบ็ดเตล็ด กรณีมีเหตุร้ายแรงอันเกิดภยันตรายแก่นักโทษถูกคุมขังนอกเรือนจำให้นำตัวมาขังไว้ในเรือนจำจนกว่าเหตุดังกล่าวจะสิ้นสุดลงและไม่ให้ถือว่าเป็นการเพิกถอนการคุมขังนอกเรือนจำ การประกาศกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้ามและวิธีการคุมขังนักโทษนอกเรือนจำ ต้องเป็นไปตามที่ระเบียบกรมราชทัณฑ์กำหนด
คลิ๊กอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566
https://image.posttoday.com/media/pdf/2023/a8DFmdmxwRJAZN5NxTk4.pdf
Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.