ยา “คาร์บอน” แก้ท้องเสีย กินอย่างไรให้ถูกต้อง?

อากาศร้อนอบอ้าวอย่างบ้านเรา สามารถพบการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษได้เรื่อยๆ ตลอดทั้งปี และยังมีความเสี่ยงได้ตั้งแต่ร้านอาหารข้างทาง ไปจนถึงร้านมีชื่อขึ้นห้าง หรือโรงแรมดัง เมื่อไรก็ตามที่เรามีอาการถ่ายท้อง ท้องเสีย หลายคนนึกถึงยาคาร์บอนที่ช่วยให้เราหยุดถ่ายได้ แต่เมื่อไรที่เราควรทาน และเมื่อไรที่เราควรรักษาด้วยวิธีอื่น Sanook! Health มีข้อมูลมาฝากกัน

ยา “คาร์บอน” คืออะไร?

ยาคาร์บอนเป็นตัวยาที่มีส่วนประกอบของ “ผงถ่าน” (activated charcoal) มีฤทธิ์ในการดูดซับสารพิษ หรือสารเคมีไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย หรืออาจนำไปบรรเทาอาการอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือผสมกับยาตัวอื่นเพื่อการรักษาอาการบางอย่างโดยเฉพาะ

ยาคาร์บอน รักษาอะไรได้บ้าง?

  • ถ่ายเหลวหรือท้องเสียจากภาวะอาหารเป็นพิษ

  • ท้องอืด อาหารไม่ย่อย

  • มีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก จนทำให้ปวดท้อง

  • ได้รับสารเคมี หรือสารพิษ 

ยาคาร์บอน กับเรื่องเข้าใจผิด

ยาคาร์บอน ไม่ใช่ "ยาหยุดถ่าย" เป็นเพียงยาที่เข้าไปช่วยดูดซับสารเคมี สารพิษ รวมถึงเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษออกมาผ่านอุจจาระ อาจช่วยลดอาการถ่ายท้องในรายที่ป่วยเป็นโรคอาหารเป็นพิษที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้

หากเป็นอาการท้องเสียที่ไม่ได้มีการติดเชื้อ (ถ่ายเหลว แต่ไม่ได้ปวดบิด อาเจียน หรือมีไข้ร่วมด้วย) ร่างกายจะค่อยๆ หยุดถ่ายไปได้เอง อาจไม่จำเป็นต้องทานยาคาร์บอน เราควรดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไปจากการถ่าย เพื่อป้องกันอาการช็อกจากการขาดน้ำกะทันหันแทน (ทั้งนี้ หากถ่ายเกิน 10 ครั้งแล้วอ่อนเพลียมาก ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการถ่ายเหลวในครั้งนั้นๆ จะดีกว่า)

วิธีกินยาคาร์บอนอย่างถูกวิธี

  1. รับประทานยานี้ตอนท้องว่าง โดยรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหรือหลังอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

  2. รับประทานยาตามขนาด และความถี่ที่ระบุไว้บนฉลาก (เนื่องจากยาแต่ละชื่อการค้าอาจมีปริมาณตัวยาที่แตกต่าง

  3. โดยทั่วไปอาจทานยาคาร์บอนได้ครั้งละ 3-4 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่จริงๆ แล้วตัวยาคาร์บอนมีหลายชนิด และแต่ละชนิดมีส่วนผสมที่ออกฤทธิ์ไม่เหมือนกัน ควรอ่านฉลากให้ดีก่อนทาน หรือขอคำแนะนำจากเภสัชกร หรือแพทย์ก่อนทานทุกครั้ง

ข้อควรระวังของยาคาร์บอน

  • ทานยานี้แล้ว อาจมีอุจจาระสีดำ เพราะยาคาร์บอนไม่ได้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย แต่เข้าไปจับสารพิษ และแบคทีเรียในลำไส้ แล้วขับออกมาพร้อมอุจจาระ
  • ห้ามใช้ยานี้เป็นประจำ
  • หากมียาอื่นที่ต้องรับประทานร่วมด้วย ให้รับประทานยาอื่นๆ ห่างจากยานี้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง

  • หากต้องการรับประทานนมหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ให้รับประทานห่างจากยานี้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง

  • ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่รับประทานยานี้ เพราะแอลกอฮอล์จะไปทำปฏิกิริยากับยาได้

  • หญิงมีครรภ์ กำลังวางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรแจ้งแพทย์ล่วงหน้าก่อนการใช้ยา

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อุดตัน มีแผลหรือเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ อยู่ในภาวะขาดน้ำ เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดบริเวณช่องท้อง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร

คำแนะนำหลังมีอาการท้องเสีย

  1. งดรับประทานอาหารที่อาจทำให้ถ่ายง่าย เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว นม อาหารรสจัด

  2. รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย เช่น แกงจืด ข้ามต้ม โจ๊ก

  3. เมื่อหายท้องเสียสนิทดีแล้ว ทานอาหารที่มีโปรไบโอติคเพื่อช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่ดีให้กับร่างกาย เช่น โยเกิร์ต

  4. เลือกทานอาหารปรุงสุกใหม่ อุ่นอาหารให้ร้อนก่อนทาน หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ปรุงทิ้งไว้นานหลายชั่วโมงโดยไม่มีการอุ่นก่อนทาน

  5. เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน เพื่อให้กระเพาะอาหารย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น

  6. ล้างมือก่อนทานอาหาร และทุกครั้งหลังใช้ห้องน้ำ

Tuyên bố từ chối trách nhiệm: Bản quyền của bài viết này thuộc về tác giả gốc. Việc đăng lại bài viết này chỉ nhằm mục đích truyền tải thông tin và không cấu thành bất kỳ lời khuyên đầu tư nào. Nếu có bất kỳ hành vi vi phạm nào, vui lòng liên hệ với chúng tôi ngay lập tức. Chúng tôi sẽ sửa đổi hoặc xóa bài viết. Cảm ơn bạn.